คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4568/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญารับดำเนินการข้อ 2.1 และ 2.2 มีใจความโดยสรุปว่า จำเลยที่ 1 จะเร่งรัดดำเนินการเก็บเงินที่ลูกหนี้ของโจทก์ค้างชำระโดยใช้ใบเสร็จรับเงินของโจทก์เป็นหลักฐานในการรับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทุกสัปดาห์ หากจำเลยที่ 1 ยึดหน่วงเงินไว้ไม่ส่งมอบภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริต นอกจากนี้ตามสัญญาข้อ 2.3 ยังระบุว่า หากจำเลยที่ 1 สามารถติดตามเร่งรัดหนี้สินและส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 2,841,051 บาท โจทก์จะโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ของโจทก์ 1,529,796 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนไม่มีข้อความในสัญญาตอนใดกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ในกรณีไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ได้ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่ามุ่งประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้สินให้แก่โจทก์เพียงอย่างเดียวรวมทั้งมีหน้าที่ส่งมอบเงินที่เรียกเก็บให้แก่โจทก์ทุกสัปดาห์ มิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 มอบเงินที่เก็บได้ให้แก่โจทก์แล้ว แต่ยังไม่สามารถเก็บเงินได้อีก 1,099,529.55 บาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ส่งผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,099,529.55 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,099,529.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายรวม 10,000 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจการจำหน่ายและให้เช่าซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าแก่บุคคลทั่วไป จำเลยที่ 1 เคยทำงานเป็นพนักงานของโจทก์ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาจนได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขาสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้นต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากับโจทก์ มีใจความโดยย่อว่า จำเลยที่ 1 จะทำหน้าที่ติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สินที่ลูกค้าของโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 697 ราย รวมเป็นเงิน 4,370,847 บาท โดยตกลงแบ่งผลประโยชน์กันว่าโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากหนี้สินทั้ง 697 ราย เป็นเงิน 2,841,051 บาท ส่วนที่เหลืออีก 1,529,796 บาท ให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2550 หากจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ส่งเงินให้แก่โจทก์ตรงตามกำหนดเวลา จำเลยที่ 1 ยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 1,741,521.45 บาท ยังขาดอยู่อีก 1,099,529.55 บาท โจทก์จึงต้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,099,529.55 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระเงิน 1,099,529.55 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในยอดเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญารับดำเนินการลงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ข้อ 2.1 และ 2.2 มีใจความโดยสรุปว่า จำเลยที่ 1 จะเร่งรัดดำเนินการเก็บเงินที่ลูกหนี้ของโจทก์ค้างชำระ โดยใช้ใบเสร็จรับเงินของโจทก์เป็นหลักฐานในการรับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทุกสัปดาห์ หากจำเลยที่ 1 ยึดหน่วงเงินไว้ไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตต่อโจทก์ นอกจากนี้ตามสัญญาข้อ 2.3 ยังระบุว่า หากจำเลยที่ 1 สามารถติดตามเร่งรัดหนี้สินและส่งมอบเงินให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,841,051 บาท โจทก์จะโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ของโจทก์ 1,529,796 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทน แต่ไม่มีข้อความในสัญญาตอนใดที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ได้ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่ามุ่งประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้สินให้แก่โจทก์แต่เพียงอย่างเดียว รวมทั้งมีหน้าที่ส่งมอบเงินที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ให้แก่โจทก์ทุกสัปดาห์ มิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ แต่มิได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ได้เป็นจำนวนเงิน 1,741,521.45 บาท แต่ยังไม่สามารถเก็บเงินได้อีก 1,099,529.55 บาท ทั้งจำเลยที่ 1 ได้มอบเงินจำนวน 1,741,521.45 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้เงิน 1,099,529.55 บาท ให้แก่โจทก์ส่งผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,099,529.55 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องให้แก่โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share