แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะเป็นเพียงลูกค้าที่ติดต่อซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการเช่าซื้อ และโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันพิพาทขณะฟ้องคดีเพราะเป็นผู้เช่าซื้อจากธนาคาร ท. แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อพร้อมกับส่งมอบสมุดคู่มือการรับบริการให้แก่โจทก์ระบุการรับประกันรถยนต์พิพาทตามเงื่อนไขและระยะเวลา โดยระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าผู้ซื้อซึ่งมีสิทธิเข้ารับบริการเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมถือเป็นสัญญาให้บริการ แม้ไม่ได้ทำสัญญาให้บริการขึ้นก็มีผลผูกพันและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ให้เช่าซื้อตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต ประกอบ และจำหน่ายรถยนต์พิพาท แม้เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าผู้ซื้อรถก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานการซ่อมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยใกล้ชิด พฤติการณ์การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ย่อมชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการให้สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์อันเป็นบริการที่ให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับบริการย่อมเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทชำรุดบกพร่องจากเหตุเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติและอยู่ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลารับประกัน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาให้บริการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ซ่อมแซมข้อชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 เมื่อจำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์แต่ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างได้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าข้อชำรุดบกพร่องของเครื่องยนต์ได้รับการแก้ไขแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาท
ศาลในคดีผู้บริโภคย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงินแก่โจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 และ 41 ในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่อาจแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้บริโภคได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 992,401.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 692,401.09 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินงวดค่าเช่าซื้อหลังวันฟ้องที่เหลืออีก 53 งวด เป็นเงิน 1,179,197 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบและจำหน่ายรถยนต์กับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรถยนต์ รวมทั้งให้บริการที่เกี่ยวข้อง มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดจำหน่าย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2553 โจทก์ติดต่อซื้อรถพิพาทเป็นรถยนต์ใหม่ ยี่ห้อเชพโรเลต รุ่นแคปติวา ขับเคลื่อน 2 ล้อ สีดำ รุ่นปี 2010 จากจำเลยที่ 1 ราคา 1,544,859.81 บาท โจทก์ชำระเงินดาวน์ 269,670.09 บาท แก่จำเลยที่ 1 ส่วนราคาที่เหลือโจทก์กู้เงินจากธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) นำไปชำระแก่จำเลยที่ 1 วันที่ 18 มิถุนายน 2553 ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของรถยนต์พิพาททำสัญญาให้โจทก์เช่าซื้อรถยนต์พิพาทไป จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ในวันที่ 5 มิถุนายน 2553 โดยมีเงื่อนไขและระยะเวลารับประกัน กรณีความเสียหายของวัสดุหรือคุณภาพในการประกอบที่ต้องได้มาตรฐานเป็นเวลา 3 ปี หลังจากรับมอบรถหรือใช้งาน 100,000 กิโลเมตร แล้วแต่กรณี โจทก์ครอบครองและใช้สอยรถยนต์พิพาทเรื่อยมา เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เครื่องยนต์ของรถยนต์พิพาททำงานผิดปกติ โจทก์นำรถยนต์พิพาทไปให้จำเลยที่ 1 ซ่อม จำเลยที่ 1 รับซ่อมโดยช่างของจำเลยที่ 1 แก้ไขอาการควันสีขาวจนหมดปัญหา แต่อาการเครื่องยนต์ไม่มีกำลัง (เร่งไม่ขึ้นหรือมีอาการรอรอบ) ไม่อาจแก้ไขได้ จำเลยที่ 1 จึงส่งรถยนต์พิพาทไปให้จำเลยที่ 2 แก้ไข เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยทั้งสองเสนอให้จำเลยทั้งสองเลือกว่าจะรับรถยนต์พิพาทคืนแล้วโจทก์จะซื้อรถยนต์ ยี่ห้อเชฟโรเลต รุ่นโคโลราโด ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่เพิ่งออกวางตลาดขณะนั้น โดยให้จำเลยทั้งสองออกเงินดาวน์ร้อยละ 30 ของราคารถ หรือให้จำเลยทั้งสองร่วมกันซ่อมแซมรถยนต์พิพาทอีกครั้ง หากแก้ไขไม่ได้ จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินดาวน์และเงินที่โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไปทั้งหมด เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบโจทก์ว่า จะนำรถไปซ่อมอีกครั้ง จำเลยทั้งสองรับรถยนต์พิพาทไปซ่อมแซมเมื่อเดือนกันยายน 2554 วิศวกรภาคสนามของจำเลยที่ 2 ร่วมทดสอบรถยนต์พิพาทและทำรายงานการทดสอบ เมื่อเดือนธันวาคม 2554 จำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์รับรถยนต์พิพาทคืน แต่โจทก์ไม่ยอมรับคืนอ้างว่าเครื่องยนต์ยังคงไม่มีกำลังเช่นเดิม ระหว่างจำเลยทั้งสองซ่อมรถยนต์พิพาท จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์ให้โจทก์ใช้เรื่อยมาจนปัจจุบันโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถแล้ว และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยฟังว่า เมื่อรถยนต์พิพาทที่เช่าซื้อชำรุดบกพร่อง ผู้ให้เช่าซื้อเป็นฝ่ายต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เช่าซื้อ ส่วนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนและผู้ขายต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยทั้งสองที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทที่เกิดระหว่างเช่าซื้อ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 และชำระเงินดาวน์พร้อมรับมอบรถยนต์พิพาทมาครอบครองใช้สอยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2553 กรรมสิทธิ์ตกเป็นของโจทก์ทันทีแม้ยังชำระราคาไม่ครบ โจทก์โอนกรรมสิทธิ์แก่ผู้ให้เช่าซื้อเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาเช่าซื้อ แม้หลังเช่าซื้อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาท แต่เป็นผู้ครอบครองใช้สอย ตามประวัติการนำรถยนต์พิพาทไปรับบริการก็ระบุว่า โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ในการซ่อมจำเลยที่ 1 ต้องขออนุมัติจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์พิพาท และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับว่าหากซ่อมรถยนต์พิพาทไม่ได้ ยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขที่โจทก์เสนอ ซึ่งเป็นการประนีประนอมยอมความ อย่างไรก็ตาม โจทก์เป็นผู้ใช้รถยนต์พิพาทโดยชอบจึงเป็นผู้บริโภคและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 และ 4 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ตกลงด้วย มีธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 รับชำระเงินดาวน์จากโจทก์แล้วส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2553 พร้อมมอบสมุดคู่มือการรับบริการแก่โจทก์ ระบุชื่อผู้ซื้อว่าโจทก์ในใบทะเบียนลูกค้า จำเลยที่ 1 ตกลงรับประกันรถยนต์พิพาทตามเงื่อนไขและระยะเวลา ด้วยการกำหนดเกณฑ์รับประกันกรณีความเสียหายของวัสดุหรือคุณภาพในการประกอบรถที่ต้องได้มาตรฐานเป็นเวลา 36 เดือน หลังจากรับมอบรถหรือใช้งาน 100,000 กิโลเมตร แล้วแต่กรณี ได้ความดังนี้ เห็นว่า แม้โจทก์เป็นเพียงลูกค้าติดต่อซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยใช้วิธีการเช่าซื้อด้วยการขอให้ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปให้โจทก์เช่าซื้อดังความตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 และโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาทขณะฟ้องคดีเพราะเป็นผู้เช่าซื้อจากธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เจ้าของผู้ให้เช่าซื้อ แต่โจทก์ในฐานะผู้เช่าซื้อมีสิทธิครอบครองและใช้รถโดยชอบ กับมีหน้าที่รักษารถยนต์พิพาทให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและมีการซ่อมแซมที่ดีโดยค่าใช้จ่ายของโจทก์ ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 (ก) เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบตามสัญญา กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทย่อมตกเป็นของโจทก์ ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 7 โจทก์จึงมีสิทธิใช้สอยรถยนต์พิพาทโดยชอบ ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อ พร้อมกับส่งมอบสมุดคู่มือการรับบริการให้แก่โจทก์ ระบุการรับประกันรถยนต์พิพาทตามเงื่อนไขและระยะเวลา โดยระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าผู้ซื้อ ซึ่งย่อมหมายถึงเป็นผู้มีสิทธิรับบริการเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 เช่นนี้ เชื่อได้ว่าย่อมเป็นไปตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 แจ้งแก่โจทก์ขณะเจรจาทำความตกลงซื้อขายกันด้วยวิธีการเช่าซื้อว่ามีบริการรับประกันเช่นนั้นเพราะเป็นการจูงใจให้โจทก์เข้าเป็นลูกค้า ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมถือเป็นสัญญาการให้บริการที่จำเลยที่ 1 ผู้ขายตกลงจะให้บริการแก่โจทก์เพื่อตอบแทนแก่โจทก์ผู้ซื้อรถยนต์พิพาทด้วยวิธีการเช่าซื้อ แม้ไม่ได้ทำเป็นสัญญาบริการขึ้นโดยเฉพาะเจาะจงก็มีผลผูกพันและบังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ให้เช่าซื้อ โดยผลของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต ประกอบและจำหน่ายรถยนต์พิพาท แม้เป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของตน และแม้การจำหน่ายรถยนต์แต่ละคัน จำเลยที่ 2 ใช้วิธีการขายรถยนต์ให้แก่ตัวแทนจำหน่าย แล้วตัวแทนจำหน่ายเป็นผู้ขายรถแก่ลูกค้าโดยจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าผู้ซื้อรถเองหรือลูกค้าผู้ซื้อด้วยวิธีการเช่าซื้อโดยมีสถาบันการเงินเป็นผู้ซื้อรถยนต์จากตัวแทนจำหน่ายนำไปให้เช่าซื้ออีกต่อหนึ่งก็ตาม แต่ได้ความจากที่จำเลยที่ 2 นำสืบนายศุภฤกษ์ พนักงานจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของจำเลยที่ 2 จะซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลตจากจำเลยที่ 2 โดยใช้สัญลักษณ์และการตกแต่งสถานที่ประกอบการในลักษณะเดียวกับตัวแทนจำหน่ายอื่นของจำเลยที่ 2 เพื่อเหตุผลทางการตลาด จำเลยที่ 2 เพียงมีสิทธิตรวจสอบการใช้สัญลักษณ์ตกแต่งสถานที่และควบคุมคุณภาพการซ่อมแซมรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลตเท่านั้น เรื่องการควบคุมการซ่อมของตัวแทนจำหน่ายโดยจำเลยที่ 2 นี้ จำเลยที่ 1 นำสืบนายประสาน ผู้จัดการสาขาของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า หากรถที่เข้ารับบริการมีปัญหาเล็กน้อย จำเลยที่ 1 ไม่ต้องแจ้งรายละเอียดการซ่อมเพื่อขออนุมัติจากจำเลยที่ 2 แต่หากเป็นการซ่อมแซมใหญ่เช่นกรณีที่เกิดกับรถยนต์พิพาท จำเลยที่ 1 จะขออนุมัติซ่อมจากจำเลยที่ 2 กรณีรถยนต์พิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับจากโจทก์เพื่อซ่อมได้แจ้งจำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 2 ส่งวิศวกรรถยนต์ไปดูสภาพความเสียหายแล้วแจ้งว่า ไม่อาจซ่อมที่สาขาสมุยได้ จำเป็นต้องนำรถยนต์พิพาทไปซ่อมที่กรุงเทพมหานคร ดังนี้ ตามพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายเห็นได้ว่า ในการให้บริการซ่อมแซมรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลตของตัวแทนจำหน่ายเช่นจำเลยที่ 1 แก่ลูกค้าเช่นโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมคุณภาพและกำกับดูแลมาตรฐานการซ่อมของจำเลยที่ 1 โดยใกล้ชิด กรณีที่เกินกำลังของตัวแทนจำหน่ายจะซ่อมได้ จำเลยที่ 2 จะเข้าซ่อมเอง ทั้งนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อรักษาชื่อเสียงยี่ห้อรถยนต์ของตนให้เป็นที่เชื่อถือในท้องตลาด ซึ่งเป็นประโยชน์ในธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถยนต์ของตน จำเลยที่ 2 จึงยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำคำรับรองแก่ลูกค้าโดยอ้างอิงการรับประกันจากเชฟโรเลตดังปรากฏตามสมุดคู่มือการรับบริการ ซึ่งคำว่า “เชฟโรเลต” ย่อมหมายถึงจำเลยที่ 2 ข้อความการรับประกันตามเอกสารดังกล่าวที่รับรองว่า “…สมุดคู่มือการรับบริการนี้ ควรเก็บไว้กับรถตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาที่ต้องการจะขายต่อ เพื่อสามารถที่จะใช้ในการรับประกันคุณภาพของรถคันนั้นต่อไป…” และ “…ตัวแทนจำหน่ายยินดีที่จะรับบริการให้กับลูกค้าที่ร้องขอการรับประกันคุณภาพโดยมิได้คำนึงว่ารถคันดังกล่าวซื้อมาจากที่ใด…” ตามสมุดคู่มือการรับบริการ (หน้า 8) หัวข้อ การบริการเชฟโรเลต อันเป็นการแสดงถึงความยินยอมให้จำเลยที่ 1 อ้างอิงการรับประกันการบริการภายใต้การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานโดยจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ควบคุมกำกับการซ่อมแซมรถของจำเลยที่ 1 และเข้าซ่อมเองในกรณีเกินกำลังของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ย่อมบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการให้สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์อันเป็นบริการที่ให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกค้าผู้ซื้อรถยนต์เชพโรเลตด้วย ได้ความดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับบริการย่อมเป็นผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับบริการจากจำเลยทั้งสองกล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทชำรุดบกพร่องจากเหตุเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติและอยู่ในเกณฑ์บังคับภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลาการรับประกันโดยจำเลยทั้งสอง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาให้บริการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ แม้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ให้เช่าซื้อรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทได้โดยตรงดังจำเลยที่ 1 แก้ฎีกา และโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทดังจำเลยที่ 2 แก้ฎีกา ก็หาตัดสิทธิโจทก์ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการรับประกันการซ่อมแซมรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองไม่มีนิติสัมพันธ์กันในลักษณะซื้อขาย โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท และโจทก์เรียกให้ผู้เช่าซื้อรับผิดในความชำรุดบกพร่องได้โดยตรงอยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองและพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทหรือไม่ ซึ่งศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้วินิจฉัยตามลำดับศาล ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รถยนต์พิพาทมีอาการเครื่องยนต์ไม่มีกำลังหรือเร่งไม่ขึ้นอันเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการผลิตหรือการประกอบจริง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 กรณีจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นภายหลังจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาท ตามรายงานของนายศักดิ์ชัย วิศวกรภาคสนามของจำเลยที่ 2 ระบุว่า เหตุความบกพร่องของเครื่องยนต์เกิดจากแหวนลูกสูบสัมผัสกระบอกสูบทำให้เกิดรอยเสียหาย โดยนายศักดิ์ชัยทำความเห็นไว้ว่า อาการเครื่องยนต์วิ่งอืดขณะออกตัวและวิ่งอืดเกิดจากการสึกหรอของชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ทำให้กำลังของเครื่องยนต์ลดลง ดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองกำหนดระยะเวลารับประกันว่าจะซ่อมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนที่เสียหายจากความบกพร่องของวัสดุหรือกรรมวิธีการผลิตจากโรงงานภายใต้การใช้งานปกติเป็นเวลา 36 เดือน หลังรับมอบรถ หรือใช้งานเป็นระยะทาง 100,000 กิโลเมตร ย่อมแสดงว่าโดยปกติชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ที่ได้มาตรฐานย่อมมีอายุการใช้งานภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว การที่เครื่องยนต์ของรถยนต์พิพาททำงานผิดปกติมีอาการเครื่องยนต์ไม่มีกำลังและมีปัญหาเรื่องซอฟต์แวร์ควบคุมสั่งการล้อเกิดขึ้นเพียงประมาณ 7 เดือน หลังการรับมอบไปใช้งานทั้งที่เป็นรถยนต์ใหม่และใช้งานเพียงประมาณ 12,000 กิโลเมตร โดยมีสาเหตุเกิดจากการสึกหรอของชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ และปัญหาจากซอฟต์แวร์โดยไม่ปรากฏจากทางนำสืบของคู่ความว่าโจทก์ใช้งานผิดจากปกติการใช้สอยรถยนต์ทั่วไป จึงรับฟังได้ว่าความชำรุดบกพร่องดังกล่าวเกิดจากชิ้นส่วนหรือการประกอบที่ไม่ได้มาตรฐานมาแต่ต้น ความชำรุดบกพร่องนี้จึงมีอยู่ในขณะส่งมอบเพียงแต่ไม่เห็นประจักษ์และแสดงผลภายหลังจากโจทก์ใช้งานไปเพียงประมาณ 7 เดือน ที่ระยะทางการใช้งานประมาณ 12,000 กิโลเมตร จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ร่วมกันรับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์พิพาทดังวินิจฉัยแล้วจึงต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องดังกล่าว จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้คดีว่าได้ซ่อมแซมข้อชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทกรณีเครื่องยนต์ไม่มีกำลังหรือเร่งไม่ขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์ในปัญหานี้จึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ที่จำเลยที่ 2 นำสืบอ้างผลการทดสอบของนายศักดิ์ชัย วิศวกรภาคสนามของจำเลยที่ 2 ตามรายงานการตรวจสอบจากวิศวกรภาคสนาม นั้น ไม่ปรากฏว่านายศักดิ์ชัยได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำนายศักดิ์ชัยมาเป็นพยานต่อศาล ความตามรายงานดังกล่าวที่อ้างว่า หลังการแก้ไขได้ทดสอบรถยนต์สามารถทำความเร็วสูงสุดได้เกิน 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยไม่พบอาการผิดปกติในขณะและหลังการทดสอบ จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ซึ่งโจทก์นำสืบนายนิกร และนายชูศักดิ์ ผู้ทดสอบรถยนต์ของโจทก์เป็นพยานโต้แย้งว่า ในการทดสอบขับรถยนต์พิพาทโดยมีตัวแทนของเชฟโรเลตไปร่วมด้วย ยังพบว่ารถมีปัญหาการเร่งความเร็ว มีอาการหน่วง เครื่องยนต์มีเสียงดังมากที่ความเร็วประมาณ 80 ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่สามารถเพิ่มความเร็วได้เหมือนรถยนต์ทั่วไป ผู้จัดการสาขาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพยานจำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามติงว่า หลังจากจำเลยที่ 2 ซ่อมรถยนต์พิพาทแล้ว พยานกับโจทก์ได้ร่วมกันทดลองขับรถยนต์พิพาท ผลปรากฏว่ายังมีปัญหาเกี่ยวกับการเร่งความเร็วขณะจะแซงรถ โจทก์จึงไม่ขอรับรถคืน ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบดังกล่าว จึงเป็นการนำสืบกล่าวอ้างข้อเท็จจริงยันกัน ไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ ดังนี้ เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายมีภาระการพิสูจน์ว่าได้ซ่อมแซมรถยนต์พิพาทกรณีเครื่องยนต์ไม่มีกำลังหรือเร่งไม่ขึ้นจนข้อชำรุดบกพร่องสิ้นไปแล้ว ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างได้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าข้อชำรุดบกพร่องของเครื่องยนต์ได้รับการแก้ไขแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาท เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ดังวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยทั้งสองไม่อาจแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้บริโภคได้ ศาลในคดีผู้บริโภคย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงินแก่โจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 และ 41 คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างซึ่งเป็นคดีแพ่งสามัญนั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกันกับคดีนี้จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ