คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 456/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทมีกำหนดเงื่อนไขห้ามโอน 10 ปี การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกเหตุดังกล่าวขึ้นมาเป็นข้อวินิจฉัยว่ามีข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องปฏิเสธ โจทก์เห็นว่าเมื่อการครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่เปลี่ยนแปลงไป โจทก์จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงใดต้องปฏิเสธ ดังนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติแล้วว่า ที่ดินพิพาทมีกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ปัญหาจึงมีเพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะยึดที่ดินพิพาทหรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีที่จะต้องวินิจฉัย ที่ดินพิพาทต้องห้ามการโอนภายใน 10 ปี ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 31 วรรคท้าย บัญญัติว่า ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามวรรคหนึ่งที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี การยึดที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 282 แม้ผลของการยึดทรัพย์จะยังมิได้ทำให้สิทธิแห่งการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยเปลี่ยนไปก็ตาม แต่เมื่อที่ดินพิพาทไม่ตกอยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ไม่มีอำนาจที่จะยึดได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งขอให้ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดเชียงราย)ยึดที่ดินพิพาทของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4536/2527 ของศาลแพ่ง
จำเลยยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทต้องห้ามการโอนภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ 5 กันยายน 2526 จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการยึดที่ดินพิพาท
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทนั้นก็เพื่อรอการขายทอดตลาดเมื่อกำหนดเวลาห้ามการโอนผ่านพ้นไปแล้ว เป็นการบังคับคดียังไม่เสร็จสิ้นและมิได้มีการโอนให้แก่ผู้ใด จึงไม่เข้าข่ายต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและคำคัดค้านเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงมีคำสั่งให้งดการไต่สวนและให้เพิกถอนการยึดที่ดินพิพาท เพราะที่ดินพิพาทห้ามการโอนภายใน 10 ปี จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่าที่ดินพิพาทมีกำหนดเงื่อนไขห้ามโอน 10 ปี การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกเหตุดังกล่าวขึ้นมาเป็นข้อวินิจฉัยว่ามีข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องปฏิเสธ โจทก์เห็นว่า เมื่อการครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่เปลี่ยนแปลงไป โจทก์จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงใดต้องปฏิเสธ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติแล้วว่า ที่ดินพิพาทมีกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2526ปัญหาจึงมีเพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะยึดที่ดินพิพาทหรือไม่ ซึ่งโจทก์ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ไว้แล้ว ฉะนั้นฎีกาของโจทก์ข้อแรกนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสองมีว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาทไว้เพื่อรอการขายทอดตลาดเมื่อกำหนดเวลาห้ามโอนสิ้นสุดลงแล้ว ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 เพราะแม้การยึดทรัพย์จะเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดี แต่ผลการยึดทรัพย์มิได้ทำให้สิทธิแห่งการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยเปลี่ยนไป เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทต้องห้ามการโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2526ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 วรรคท้าย บัญญัติว่า ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 282 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะรวบรวมเงินให้พอชำระตามคำพิพากษาโดยวิธียึดและขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น การยึดที่ดินพิพาทจึงเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดี แม้ผลการยึดทรัพย์จะยังมิได้ทำให้สิทธิแห่งการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยเปลี่ยนไปก็ตาม แต่เมื่อที่ดินพิพาทไม่ตกอยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ไม่มีอำนาจที่จะยึดได้
พิพากษายืน

Share