คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4554/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าอาคารของโจทก์เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยของพนักงานจำเลยระหว่างการเช่า โจทก์ไขกุญแจเข้าไปในห้องของนางสาวอ.พนักงานของจำเลยในเวลากลางคืนขณะที่นางสาวอ. กำลังนอนหลับแต่โจทก์เข้าไปเพื่อปิดน้ำเนื่องจากมีการเปิดน้ำไหลทิ้งไว้ประกอบกับโจทก์เป็นหญิง กรณีจึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรง จำเลยจะยกเอาเรื่องดังกล่าวนี้มาเป็นเหตุเลิกสัญญาเช่าหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าอาคารของโจทก์รวม 15 ห้องเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม2526 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2529 อัตราค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาทต่อมาเดือนพฤษภาคม 2527 จำเลยบอกเลิกการเช่า ทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับค่าเช่าในเดือนดังกล่าวและค่าเช่าจนครบกำหนดเวลาเช่าเป็นเวลา 2 ปี 1 เดือน รวมเป็นเงิน 500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์รบกวนและจำกัดสิทธิในการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าโดยชอบหลายครั้งหลายหน ทำให้จำเลยไม่มีความสะดวกสบายในการใช้ทรัพย์สินที่เช่าและไม่สามารถทนได้จึงได้บอกเลิกการเช่ากับโจทก์ จำเลยได้ชำระเงินมัดจำการเช่า40,000 บาท ไว้แก่โจทก์ โจทก์ต้องคืนเงินจำนวนนี้ ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์คืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 140,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์คืนเงินมัดจำ40,000 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าไม่ได้รับความสะดวกสบายเพราะโจทก์ปิดน้ำปิดไฟเพื่อประหยัดไฟฟ้านั้นไม่น่าเชื่อ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ปิดดาดฟ้าไม่ให้พนักงานของจำเลยได้ใช้เป็นที่ตากเสื้อผ้านั้น ก็ฟังเป็นความผิดของโจทก์หาได้ไม่ ส่วนข้ออ้างของจำเลยอีกข้อหนึ่งที่ว่า โจทก์มักจะไขกุญแจเข้าไปในห้องที่จำเลยเช่าโดยพลการนั้น ฟังได้ว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวเพียงครั้งเดียว คือโจทก์ไขกุญแจเข้าไปในห้องของนางสาวอัมพร ธระสวัสดิ์ ในเวลากลางคืนขณะที่นางสาวอัมพรกำลังนอนหลับก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ที่ต้องทำเช่นนั้นเนื่องจากมีการเปิดน้ำไหลทิ้งไว้ จึงต้องไขกุญแจเข้าไปปิดน้ำ ซึ่งก็น่าเชื่อว่าเป็นความจริงดังที่โจทก์เบิกความ เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่โจทก์จะต้องไขกุญแจเข้าไป ประกอบกับโจทก์ก็เป็นหญิงจึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรง จำเลยจะยกเอาเรื่องดังกล่าวนี้มาเป็นเหตุเลิกสัญญาเช่าหาได้ไม่ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า พนักงานของจำเลยไม่ได้รับความสะดวกสบายจากการกระทำของโจทก์หากจะเป็นจริงก็ไม่ร้ายแรงถึงกับเป็นเหตุเลิกสัญญาเช่าได้กรณีฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกการเช่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยที่ยังไม่มีสิทธิเลิกสัญญาเช่นนี้ เป็นการผิดสัญญาเช่าเมื่อโจทก์ต้องเสียหาย จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ส่วนปัญหาว่า โจทก์ต้องคืนเงินจำนวน 40,000 บาท แก่จำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า คดีฟังไม่ได้ว่าเงินจำนวน40,000 บาท ตามฟ้องแย้ง เป็นเงินมัดจำ โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share