คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4553/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป. รัษฎากร มาตรา 39 บัญญัติคำว่า “ขาย” ให้หมายความรวมถึง ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าด้วยวิธีใด และไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกับผู้อื่นก็มีผลเท่ากับโจทก์ขายที่ดิน จึงต้องถือราคาขายที่ดินเป็นเงินได้ของโจทก์ หาใช่ถือเอาเฉพาะเงินที่โจทก์ได้รับมาเป็นรายได้ไม่ ที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายตามราคาตลาดในวันที่โอนที่ดินโดยอาศัยอำนาจตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) จึงชอบแล้ว
โจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระภาษี ทั้งโจทก์ให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานประเมินในการตรวจสอบ ประกอบกับโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่ออุดหนุนและบำรุงการศึกษาบาลีของภิกษุสามเณร ที่ศาลภาษีอากรกลางงดเบี้ยปรับแก่โจทก์จึงชอบแล้ว
ป. รัษฎากร มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมินให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ” และมาตรา 27 ทวิ บัญญัติว่า เบี้ยปรับตามมาตรา 22 และมาตรา 26 และเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ให้ถือเป็นเงินภาษี และเบี้ยปรับดังกล่าวอาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเงินเพิ่มเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายมิได้เกิดจากข้อสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ และเฉพาะเบี้ยปรับเท่านั้นที่จะงดหรือลดลงได้ส่วนเงินเพิ่มไม่อาจกระทำเช่นนั้นได้ เงินเพิ่มจึงมิใช่เบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. ศาลอาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางงดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ ๑๐๐๑๐๑๐/๒/๑๐๐๐๒๒ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๑ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.๑ (อธ.๓)/๕๕/๒๕๔๓ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ หรืองดเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า กรณีไม่มีเหตุที่จะลดหรืองดเบี้ยปรับกับเงินเพิ่มให้โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้งหมดคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ดำเนินกิจการให้เช่าที่ดินเพื่อเก็บผลประโยชน์บำรุงการศึกษาของภิกษุสามเณร เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๕ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เฉพาะส่วนเนื้อที่ ๑๗๘ ไร่ ๔๙ ตารางวา แลกเปลี่ยนกับที่ดินของบริษัทกรีนทาวน์เรียลเอสเตท จำกัด กับได้รับเงินจากบริษัทกรีนทาวน์เรียลเอสเตท จำกัด อีกจำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๖ แลกเปลี่ยนกับที่ดินของบริษัทยูพี พรอพเบอร์ตี้ จำกัด กับได้รับเงินจากบริษัทยูพี พรอพเบอร์ตี้ จำกัด อีกจำนวน ๕,๕๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์นำเงินจำนวน ๑๕,๕๐๐,๐๐๐ บาทดังกล่าวไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ต้องนำราคาขายหรือมูลค่าของที่ดินทั้งสองแปลงรวมเป็นเงิน ๓๐๗,๘๔๑,๗๐๐ บาท มาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อหักเงินที่โจทก์ได้รับค่าตอบแทนแล้ว จำนวน ๑๕,๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งโจทก์ชำระภาษีแล้วออก จึงยังคงเหลือรายได้ที่โจทก์ไม่ได้นำไปรวมคำนวณเป็นรายได้ในการยื่นแบบและชำระภาษีอีกจำนวน ๒๙๒,๓๔๑,๗๐๐ บาท ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมจำนวน ๔,๔๕๕,๓๓๒ บาท และให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๕ จำนวน ๒๗,๖๒๙,๘๕๖ บาท กับเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ จำนวน ๑๒,๘๕๕,๑๕๐ บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ปลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว แต่ลดเบี้ยปรับลงคงให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ ๓๐ ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการแลกเปลี่ยนที่ดินของโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ป. รัษฎากร มาตรา ๓๙ บัญญัติคำว่า “ขาย” ให้หมายความรวมถึง ขายฝาก แลกเปลี่ยนให้ โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าด้วยวิธีใด และไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินทั้ง ๒ แปลงดังกล่าวกับผู้อื่นก็มีผลเท่ากับโจทก์ขายที่ดินทั้ง ๒ แปลง นั่นเอง จึงต้องถือราคาขายที่ดินเป็นเงินได้ของโจทก์ หาใช่ถือเอาเฉพาะเงินทื่โจทก์ได้รับมาเป็นรายได้ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายตามราคาตลาดในวันที่โอนที่ดินทั้ง ๒ แปลงดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตาม ป. รัษฎากร มาตรา ๖๕ ทวิ (๔) จึงชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกมีว่าสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า โจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระภาษี ทั้งโจทก์ให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานประเมินในการตรวจสอบ ประกอบกับโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่ออุดหนุนและบำรุงการศึกษาบาลีของภิกษุสามเณร ที่ศาลภาษีอากรกลางงดเบี้ยปรับแก่โจทก์จึงชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางงดเงินเพิ่มแก่โจทก์เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ป. รัษฎากร มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมินให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ” และมาตรา ๒๗ ทวิ บัญญัติว่า เบี้ยปรับตามมาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๖ และเงินเพิ่มตามมาตรา ๒๗ ให้ถือเป็นเงินภาษี และเบี้ยปรับดังกล่าวอาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เงินเพิ่มเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายมิได้เกิดจากข้อสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้และเฉพาะเบี้ยปรับเท่านั้นที่จะงดหรือลดลงได้ ส่วนเงินเพิ่มไม่อาจกระทำเช่นนั้นได้ เงินเพิ่มจึงมิใช่เบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. ซึ่งศาลอาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางงดเงินเพิ่มแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้งดเงินเพิ่มแก่โจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share