คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4552/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ค่ารายปีของโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ที่โจทก์เช่ามาจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมประจำปีภาษี 2531 ที่ถูกต้องจำนวน 18,195,941.60 บาท ต้องถือเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปี 2532 การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532สำหรับโรงงานดังกล่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยคิดค่ารายปีเพียง 3,360,000 บาท ค่าภาษีที่จะต้องเสียจำนวน420,000 บาท โดยโรงงานนั้นไม่ได้ถูกรื้อถอนหรือถูกทำลายให้ลดลงจากเดิม ย่อมเป็นการประเมินที่ผิดพลาด ดังนั้นหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบถึงจำนวนค่ารายปีที่ถูกต้องแท้จริงประจำปีภาษี 2531 จากคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางแล้วได้มีหนังสือแจ้งรายการประเมินให้นำค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532 มาชำระเพิ่มเติมอีกจำนวน 1,848,242.70 บาทจึงเป็นเพียงการแก้ไขการประเมินครั้งแรกที่ผิดพลาดนั้นเสียใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 24 ประกอบมาตรา 8 และมาตรา 18 บัญญัติไว้นั่นเองไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่แก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดเสียใหม่ให้ถูกต้อง และมิใช่เป็นการประเมินเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินซ้ำซ้อนกันหรือเรียกเก็บปีละ 2 ครั้ง ฉะนั้นการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการประเมินค่าภาษีเพิ่มเติมอีกจำนวน 1,848,242.70 บาทจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 สำหรับปีภาษี 2532และ 2533 และให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมประจำปีภาษี 2532 และ 2533 เป็นเงินปีละ 48,242.70 บาทและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บไปเป็นเงิน 4,440,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1ได้รับชำระเงินภาษีที่เรียกเก็บเกินไปจนกว่าจะชำระเงินภาษีคืนให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ในการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532 ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แจ้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมนำเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินไปชำระเพิ่มเติมไม่ใช่เป็นการประเมินภาษีครั้งที่สอง แต่เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่แก้ไขการประเมินให้ได้จำนวนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ถูกต้อง ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถกระทำได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532 ตามหนังสือที่ ปท 0116/03773 ลงวันที่14 ธันวาคม 2532 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เรียกเก็บเกินไป 1,848,242.70 บาทให้โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่คืนเงินดังกล่าวให้โจทก์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 1,848,242.70 บาท นับจากวันครบกำหนด 3 เดือน จนกว่าจำเลยทั้งสองจะคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวนที่ต้องคืนให้โจทก์เสร็จ โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีกำหนด 15 ปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2523 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2537 ค่าเช่า2 ปีแรกปีละ 55,000,000 บาท ปีต่อ ๆ ไปปีละ 60,000,000 บาทตามสัญญาเช่าโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องสร้างโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญาข้อ 11 บรรดาสิ่งที่สร้าง ทำ ติดตั้งและจัดหามาใช้กับโรงงานให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและโจทก์มีหน้าที่จะต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วย สำหรับที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 จำนวน 43 โฉนดนั้นโจทก์ทำสัญญาเช่าจากกระทรวงการคลัง มีกำหนด 15 ปี ค่าเช่าเป็นเงิน5,789,124 บาท ปี 2530 และปี 2531 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินค่ารายปีแห่งทรัพย์สินสำหรับโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2เป็นเงิน 18,195,941.60 บาท ค่าภาษีที่ต้องเสียเป็นเงิน2,268,242.70 บาท ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมนำเงินไปชำระโจทก์ได้ชำระค่าภาษีดังกล่าวแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จำเลยที่ 2 พิจารณาคำร้องของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วมีคำชี้ขาดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมชำระค่าภาษีตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดจึงได้นำคดีไปสู่ศาลคดีถึงที่สุด โดยศาลวินิจฉัยว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับภาษีปี2530 ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3911/2532 ส่วนภาษีปี 2531ปรากฏตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 75/2534ปี 2532 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 เป็นเงิน 3,360,000 บาท ค่าภาษีที่จะต้องชำระเป็นเงิน 420,000 บาท ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมนำเงินไปชำระโจทก์ได้ชำระค่าภาษีจำนวนดังกล่าวแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามสัญญาแล้ว ต่อมาเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินและจำเลยที่ 2 ชี้ขาดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ประจำปีภาษี 2530 โดยกำหนดค่ารายปีเป็นเงิน 18,195,941.60 บาท ค่าภาษีจำนวน 2,268,242.70เป็นการประเมินและคำชี้ขาดที่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้องโจทก์และศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ประจำปีภาษี 2531 ชอบด้วยกฎหมายแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ประจำปีภาษี 2532 เป็นเงิน 18,195,941.60 บาท ค่าภาษีจำนวน2,268,242.70 บาท ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้นำเงินมาชำระเพิ่ม จำนวน 1,848,242.70 บาท โจทก์ได้นำเงินไปชำระเพิ่มแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม แล้วได้ขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ 2 พิจารณาคำร้องของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วมีคำชี้ขาดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมชำระค่าภาษีตามการประเมิน สำหรับปี 2533 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2เป็นเงิน 18,195,941.60 บาท ค่าภาษีที่จะต้องชำระจำนวน2,268,242.70 บาท ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมนำเงินไปชำระ โจทก์ได้ชำระค่าภาษีจำนวนดังกล่าวแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม แล้วได้ขอ ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จำเลยที่ 2 พิจารณาคำร้องของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว มีคำชี้ขาดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมชำระค่าภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2ทั้งสองครั้งดังกล่าวจึงได้นำคดีมาสู่ศาลเป็นคดีนี้
ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองก่อนอุทธรณ์ของโจทก์ ประเด็นที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งการประเมินให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532 สำหรับโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 เพิ่มเติมอีกจำนวน 1,848,242.70 บาทหลังจากที่ได้ประเมินเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีดังกล่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมไปในครั้งแรกแล้วจำนวน420,000 บาท จะเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าปี 2530 และปี 2531 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยกำหนดค่ารายปีเป็นเงินจำนวน18,195,941.60 บาท ค่าภาษีที่ต้องเสียเป็นเงินจำนวน2,268,242.70 บาท โจทก์ชำระภาษีจำนวนดังกล่าวแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วได้ขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ 2 พิจารณาคำร้องของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วมีคำชี้ขาดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมชำระค่าภาษีตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์จึงนำคดีไปสู่ศาล คดีถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ชอบแล้ว ให้ยกฟ้องของโจทก์ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ยุติว่า ค่ารายปีของโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2ประจำปีภาษี 2530 และ 2531 ที่ถูกต้องเป็นเงิน 18,195,941.60 บาทเมื่อพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18บัญญัติว่า ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจำต้องเสียในปีต่อมาฉะนั้นค่ารายปีของโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ประจำปีภาษี 2531 จำนวน18,195,941.60 บาท จึงต้องถือเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปี 2532 ด้วย การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532 สำหรับโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยคิดค่ารายปีเพียง 3,360,000 บาท ค่าภาษีที่จะต้องเสียจำนวน420,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าโรงงานดังกล่าวถูกรื้อถอนหรือถูกทำลายให้ลดลงจากเดิม ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการประเมินที่ผิดพลาดไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น หลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบถึงจำนวนค่ารายปีที่ถูกต้องแท้จริงประจำปีภาษี 2530 และ2531 จากคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลภาษีอากรกลางตามลำดับ แล้วได้มี หนังสือแจ้งรายการประเมินไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้นำ ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำภาษี 2532 มาชำระเพิ่มเติมเสีย ให้ครบถ้วนอีกจำนวน 1,484,242.70 บาท จึงเป็นเพียงการที่พนักงานเจ้าหน้าที่แก้ไขการประเมินครั้งแรกที่ผิดพลาดนั้นเสียใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายอันเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 24ประกอบมาตรา 8 และมาตรา 18 บัญญัติไว้นั่นเอง หาได้มีบทกฎหมายใด บัญญัติห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่แก้ไขประเมินที่ผิดพลาดเสียใหม่ให้ถูกต้องแต่อย่างใด และกรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการประเมินเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ประจำปีภาษี 2532 ซ้ำซ้อนกันหรือเรียกเก็บปีละ 2 ครั้งเกินกว่าที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 ให้อำนาจไว้ไม่ ฉะนั้นการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532 สำหรับ โรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 เพิ่มเติมอีกจำนวน 1,848,242.70 บาท จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม หลังจากที่ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีดังกล่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในครั้งแรกไปแล้วจำนวน 420,000 บาท จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือที่ ปท 0116/13773 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2532 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการประเมินตามหนังสือดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด

Share