แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากจำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าและได้ชำระภาษีอากรครบถ้วนแล้ว ถ้าความปรากฏชัดแจ้งในภายหลังว่ารายการที่ยื่นเสียภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมินของกรมศุลกากรมีอำนาจประเมินเพิ่มเติมได้โดยไม่จำต้องดำเนินการ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19และ 20 ภาษีการค้าส่วนที่ประเมินเพิ่ม จำเลยไม่ได้ชำระหรือวางเงินเป็นประกัน ย่อมไม่มีสิทธิได้รับการลดภาษีร้อยละ 2 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 เอกาทศ เมื่อได้แจ้งการประเมินทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่จดทะเบียนไว้กับกรมทะเบียนการค้าและผู้ที่อยู่ในสำนักงานดังกล่าวซึ่งมิใช่กรรมการผู้จัดการของจำเลยเป็นผู้รับแทนก็ตาม ถือว่าการส่งแบบแจ้งการประเมินภาษีอากรชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 8 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม 2523 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2528 จำเลยได้สั่งซื้อและนำเข้าสินค้าส่วนประกอบหม้อหุงข้าวไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่นรวม 15 ครั้งเมื่อสินค้าดังกล่าวถูกนำเข้ามาถึงด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพจำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้แสดงรายละเอียดต่าง ๆถึงราคาสินค้า ที่ นำเข้าพร้อมทั้งขอชำระภาษีอากร พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจแล้วหลงเชื่อว่าราคาสินค้าที่จำเลยนำเข้าและภาษีอากรที่จำเลยสำแดงดังกล่าวเป็นราคาสินค้าอันแท้จริงและเป็นจำนวนค่าภาษีอากรที่ถูกต้อง จึงให้จำเลยชำระภาษีอากรตามที่สำแดงและตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไป ต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจสอบราคาสินค้าที่จำเลยได้สำแดงไว้ปรากฏว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าต่ำกว่าราคาสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อและนำเข้าที่แท้จริงพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงได้ประเมินราคาสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อและนำเข้าทุกรายการเพิ่มเติมตามราคาอันแท้จริง และประเมินภาษีอากรต่าง ๆที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มเติมตามกฎหมาย รวมค่าภาษีอากรที่จำเลยต้องชำระเพิ่มเติมเป็นเงิน 892,568.67 บาทพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งการประเมินภาษีอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวให้จำเลยทราบ ซึ่งจำเลยได้รับทราบหนังสือแจ้งหนี้แล้ว แต่จำเลยมิได้นำเงินค่าภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มเติมตามหนังสือแจ้งหนี้ไปชำระแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ และมิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรเพิ่มแต่อย่างใดจำเลยจะต้องรับผิดชอบเสียเบี้ยปรับภาษีการค้า 1 เท่าของภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มและต้องเสียภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มและต้องเสียเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1 และ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มนับแต่เมื่อพ้นสิบห้าวันถัดจากเดือนภาษีจนถึงวันฟ้อง และต้องเสียเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89, 89 ทวิ รวมเบี้ยปรับเงินเพิ่มเป็นเงิน 431,655.84 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มแล้ว จำเลยจะต้องชำระค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น1,324,224.50 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยหาได้นำเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวนดังกล่าวมาชำระให้แก่โจทก์ไม่ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากร 1,324,224.50 บาท และเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 118-60537 จำนวน 138.02 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า พร้อมเอกสารประกอบการนำเข้าต่อโจทก์ที่ 1 โดยถูกต้องตามราคาซื้อขายที่แท้จริงในท้องตลาดการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรทั้ง 15 ครั้งของจำเลยได้ผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายและได้ชำระภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลต่อโจทก์ที่ 1 โดยถูกต้องและครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่มและเบี้ยปรับด้วย การประเมินภาษีอากรต่าง ๆ ของโจทก์ในคดีนี้เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2ยังไม่เคยแจ้ง การประเมินให้จำเลยทราบ ก่อนฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 หรือโจทก์ที่ 2 ได้ออกหมายเรียกจำเลยไปไต่สวนก่อนดังนั้น การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตลอดจนการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของมาตรา 19 และมาตรา 20แห่งประมวลรัษฎากร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากร1,324,224.50 บาท พร้อมเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราเดือนละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่ม 9,201.63 บาท คิดเป็นเงินเพิ่มภาษีการค้าเดือนละ138.02 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ทั้งสอง แต่เงินเพิ่มดังกล่าวรวมแล้วต้องไม่เกิน 1,058.55 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การประเมินภาษีอากรของโจทก์ตามฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า หลังจากจำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า และได้ชำระภาษีอากรครบถ้วนแล้ว ถ้าหากความปรากฏชัดแจ้งในภายหลังว่ารายการที่จำเลย ยื่นเสียภาษีอากรไว้นั้นไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1ย่อมมีอำนาจประเมินเพิ่มเติมได้โดยไม่จำต้องดำเนินการตามมาตรา 19และ 20 แห่งประมวลรัษฎากร มีปัญหาต่อไปว่าการคำนวณภาษีอากรของโจทก์ถูกต้องหรือไม่ จำเลยต่อสู้ว่าการคำนวณภาษีอากรของโจทก์ไม่ถูกต้องเนื่องจากโจทก์ไม่คิดหักส่วนลดร้อยละ 2ของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลให้แก่จำเลยและการคิดคำนวณเงินเพิ่มของโจทก์ก็ไม่ถูกต้องเพราะโจทก์คิดคำนวณเงินเพิ่มภาษีการค้าตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนภาษีที่นำเข้าสินค้าเป็นต้นไปในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ที่ถูกโจทก์มีสิทธิคิดได้เพียงร้อยละ 1ต่อเดือน นั้น เห็นว่าจำเลยไม่ได้ชำระภาษีการค้าหรือวางเงินเป็นประกันสำหรับภาษีการค้า ส่วนที่ประเมินเพิ่ม จำเลยย่อมไม่มีสิทธิได้รับการลดภาษีร้อยละ 2 ตามมาตรา 78 เอกาทศแห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการคิดคำนวณเงินเพิ่มนั้นปรากฏว่าโจทก์คิดคำนวณเงินเพิ่มภาษีการค้าสำหรับสินค้าที่จำเลยนำเข้าก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2525 ในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนและคำนวณเงินเพิ่มภาษีการค้าสำหรับสินค้าที่จำเลยนำเข้าหลังจากวันที่ 3 กรกฎาคม 2525 ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนโดยเริ่มนับเมื่อพ้น 15 วัน ถัดจากเดือนภาษี ย่อมเป็นการถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25)มาตรา 28 แล้ว ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่าโจทก์ได้แจ้งการประเมินภาษีอากรให้จำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่เห็นว่า โจทก์มีนายเสฐียรผู้ออกแบบแจ้งการประเมินภาษีอากรมาเบิกความยืนยันว่าเป็นผู้ออกแบบแจ้งการประเมินและมีการส่งไปให้จำเลยทางไปรษณีย์ตอบรับตามใบตอบรับระบุว่าผู้รับคือกรรมการผู้จัดการของจำเลย ซึ่งที่อยู่ของจำเลยตรงกับสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่จดทะเบียนไว้กับกรมทะเบียนการค้า แม้ผู้ที่ลงลายมือชื่อรับแบบแจ้งการประเมินจะไม่ใช่กรรมการบริษัทจำเลย แต่เมื่อได้ส่งแบบแจ้งการประเมินไปยังสำนักทำการงานของจำเลยและมีผู้ที่อยู่ในสำนักงานดังกล่าวเป็นผู้รับแทนแล้ว ถือได้ว่าการส่งแบบแจ้งการประเมินภาษีอากรให้แก่จำเลยชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 8 แล้ว
พิพากษายืน