คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4547/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำเสนอขายรถยนต์พิพาทมี ส. ลงชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองแต่กรรมการของบริษัทมีเพียง ส. เท่านั้น ส. จึงมิได้เสนอขายเป็นส่วนตัว แม้จะมิได้ประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1ในคำเสนอขายแต่การที่จำเลยที่ 1 เข้ารับประโยชน์โดยส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่ อ. ผู้เช่าซื้อ และเป็นผู้รับชำระราคาจากโจทก์ แสดงว่า ส. ทำคำเสนอขายรถยนต์พิพาทต่อโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันการกระทำของ ส. แล้ว การซื้อขายรถยนต์พิพาทจึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ตกเป็นของโจทก์เมื่อได้ตกลงซื้อขายและชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แม้จะไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นชื่อของโจทก์ ก็หาทำให้การซื้อขายไม่สมบูรณ์ เพราะทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น
การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทที่ขายให้โจทก์แล้วไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 อีกแม้จำเลยที่ 2 จะซื้อโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบก ระบุชื่อจำเลยที่ 2เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ก็หาทำให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทไม่ เพราะกรรมสิทธิ์เป็นของโจทก์มิใช่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะโอนให้แก่ผู้ใดได้อีกและการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 บัญญัติไว้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบกได้ แต่จะขอให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ได้เพราะจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริต สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองบังคับคู่สัญญาได้ เพียงแต่ไม่อาจใช้ยันโจทก์เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2535 นายเอกภาพ พลซื่อ ได้ทำคำเสนอขอเช่าซื้อรถยนต์ต่อโจทก์ โดยขอให้โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเสนอขายรถยนต์พิพาทในราคา 1,350,000 บาท โจทก์ตกลงซื้อและนำรถยนต์พิพาทออกให้นายเอกภาพเช่าซื้อในวันเดียวกัน นายเอกภาพได้รับรถยนต์พิพาทแล้ว โจทก์จึงได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 และเข้าครอบครองรถยนต์พิพาทนับแต่วันดังกล่าว โดยมีนายเอกภาพเป็นผู้ครอบครองแทน ตามสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ตกลงจะดำเนินการออกหมายเลขทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำแผ่นป้ายทะเบียนหมายเลข 8 อ-6414 กรุงเทพมหานคร มามอบให้โจทก์ แต่มิได้มอบใบคู่มือทะเบียนให้โจทก์ทวงถาม แต่จำเลยที่ 1 ผัดผ่อนเรื่อยมาประมาณเดือนสิงหาคม 2537 โจทก์ตรวจสอบที่กรมการขนส่งทางบกพบว่าจำเลยที่ 1ยื่นคำขอจดทะเบียนรถพิพาทในนามของจำเลยที่ 2 อ้างว่าขายรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 2เมื่อเดือนมีนาคม 2536 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์แล้ว การซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองจึงไม่สุจริต ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ซื้อได้ ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองและแสดงว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2ให้เพิกถอนแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์พิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองได้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันยื่นแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และนายเอกภาพ พลซื่อ เป็นผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทหากไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หากไม่ส่งมอบ ให้กรมการขนส่งทางบกออกใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ใหม่และเพิกถอนฉบับเดิม หากไม่อาจดำเนินการได้ไม่ว่ากรณีใด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์พิพาทในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ใช้ราคาแทนจำนวน1,350,000 บาท

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 และชำระราคาพร้อมทั้งได้รับการส่งมอบรถยนต์พิพาทแล้วโดยจำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์พิพาทออกให้นายสถาพร สิทธิสมบัติ เช่าซื้อและได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้นายสถาพรครอบครองแทนตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2536 ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2536 ได้มีการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทต่อกรมการขนส่งทางบกได้หมายเลขทะเบียน 8 อ-6414 กรุงเทพมหานคร ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และนายสถาพรเป็นผู้ครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อ ภายหลังนายสถาพรผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญาและเข้าครอบครองรถยนต์พิพาทตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2536 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นโจทก์ได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากนายสิระ เจนจาคะ หาได้ซื้อจากจำเลยที่ 1 ไม่ เพราะตามเอกสารการซื้อขายรถยนต์พิพาทนายสิระลงลายมือชื่อในสัญญาโดยไม่มีการประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่20 ธันวาคม 2535 นายเอกภาพ พลซื่อ ยื่นคำขอเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ ระบุขอให้โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาให้นายเอกภาพ พลซื่อ เช่าซื้อตามคำเสนอขอเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 และนายสิระ เจนจาคะ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 ทำคำเสนอขายรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ในราคา 1,350,000 บาท ตามคำเสนอของผู้ขายเอกสารหมายจ.6 โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์พิพาทและชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยเช็คธนาคารเอเชียจำกัด (มหาชน) สาขาอัมรินทร์พลาซ่า ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.15 และใบสำคัญสั่งจ่ายเอกสารหมาย จ.11 จำเลยที่ 1 ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่โจทก์ตามใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี เอกสารหมาย จ.12 โจทก์นำรถยนต์พิพาทออกให้นายเอกภาพ พลซื่อเช่าซื้อ ในวันเดียวกันโดยมีนายสานิต ว่องสัธนพงษ์ และนายสิระ เจนจาคะ เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 และนายเอกภาพ พลซื่อ ได้รับรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์แล้ว ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1ในราคา 1,800,000 บาท และชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วนำออกให้นายสถาพรสิทธิสมบัติ เช่าซื้อกับส่งมอบรถยนต์พิพาทให้นายสถาพร สิทธิสมบัติ ในวันเดียวกันตามสัญญาเช่าซื้อใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี หนังสือเรื่องแจ้งการเช่าซื้อรถยนต์และคำขอเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.5 หลังจากนั้นวันที่ 1 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกโดยระบุชื่อจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นายสถาพร สิทธิสมบัติ เป็นผู้ครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อและสำเนาใบคู่มือจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.13 หลังจากเช่าซื้อแล้วนายสถาพร สิทธิสมบัติชำระค่าเช่าซื้อเพียง 3 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระอีก จำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาแล้วยึดรถยนต์พิพาทคืนและครอบครองไว้จนปัจจุบัน

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2535 โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทโดยชอบ จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทไปจากจำเลยที่ 1 อีกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2536 เป็นเวลาภายหลังที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทแล้ว จำเลยที่ 2 จึงซื้อจากผู้ไม่มีสิทธิขาย แม้จำเลยที่ 2 จะสุจริตก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทเพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนนั้น เห็นว่า ตามคำเสนอขอเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 ที่นายเอกภาพ พลซื่อ ขอให้โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาให้นายเอกภาพ พลซื่อ เช่าซื้อนั้นระบุชัดแจ้งว่าให้โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 1 หาได้ขอให้ซื้อจากนายสิระ เจนจาคะ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวแต่อย่างใดไม่และเมื่อโจทก์ชำระราคารถยนต์พิพาท โจทก์ก็ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ออกหลักฐานการรับเงินให้ ตามใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีเอกสารหมาย จ.12มิใช่นายสิระ เจนจาคะ เป็นผู้ออกหลักฐานการรับเงินเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด ดังนั้น แม้คำเสนอขายรถยนต์พิพาทตามเอกสารหมาย จ.6 นายสิระ เจนจาคะ จะลงชื่อเป็นผู้เสนอขายโดยมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 ก็ตามแต่ตามหนังสือรับรองก็ระบุว่ากรรมการของบริษัทมีเพียง1 คน คือนายสิระ เจนจาคะ เท่านั้น มิได้มีผู้อื่นอีก จึงไม่มีเหตุจะให้รับฟังไปว่านายสิระเจนจาคะ เสนอขายรถยนต์พิพาทเป็นส่วนตัวตามที่ศาลล่างทั้งสองมีความเห็น ดังนั้นแม้จะมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ในคำเสนอขายเอกสารหมาย จ.6อันไม่ถูกต้องตามหนังสือรับรองก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 เข้ารับประโยชน์ตามคำเสนอขายดังกล่าวโดยส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่นายเอกภาพ พลซื่อ ผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ และเป็นผู้รับชำระราคารถยนต์พิพาทจากโจทก์ แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า นายสิระเจนจาคะ ทำคำเสนอขายรถยนต์ต่อโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1และถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันการกระทำของนายสิระ เจนจาคะ แล้ว การซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทตกเป็นของโจทก์ เมื่อได้ตกลงซื้อขายและชำระราคารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2535 แล้วแม้จะไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นชื่อของโจทก์ ก็หาทำให้การซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด เพราะการจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น การที่รถยนต์พิพาทหลุดไปจากการครอบครองของนายเอกภาพ พลซื่อ ผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ได้ความจากคำเบิกความของนายเอกภาพ พลซื่อ ว่า รถยนต์พิพาทเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ จึงได้มอบรถยนต์พิพาทให้นายสิระ เจนจาคะ ที่บริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อซ่อม โดยนายสิระ เจนจาคะบอกว่าจะซ่อมเสร็จภายใน 7 วัน แล้วไม่คืนรถยนต์พิพาทให้โดยขอผัดผ่อนตลอดมา ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 อีก แม้จำเลยที่ 2 จะซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้นำรถยนต์พิพาทไปจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ตาม ก็หาทำให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทไม่ เพราะกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์มิใช่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทที่จะโอนให้แก่ผู้ใดได้อีก และการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 บัญญัติไว้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบกได้ แต่จะขอให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองบังคับคู่สัญญาได้ เพียงแต่ไม่อาจใช้ยันโจทก์เท่านั้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในข้ออื่นอีกที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทให้เพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทที่จำเลยทั้งสองยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท และนายเอกภาพ พลซื่อ เป็นผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทต่อกรมการขนส่งทางบก แล้วส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share