คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4547/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยกระทำความผิดการที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท2คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์0.773กรัมเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯต้องรับโทษตามมาตรา106ทวิระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท1ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯเท่านั้นจึงมีผลให้การมีเมทแอมเฟตามีนคำนวนเป็นสารบริสุทธิ์เพียง0.773กรัมไม่ถึง20กรัมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษมาตรา67ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯอีกต่อไปและเมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯมาตรา67ระวางโทษเบากว่าระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯมาตรา106ทวิซึ่งใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิดจึงเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯมาตรา67ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา3ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา225ประกอบมาตรา195

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6 (7 ทวิ), 13 ทวิ,62, 89, 106, 106 ทวิ, 116 พระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 4, 10 ริบของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข และให้ลงโทษจำเลยเป็น 3 เท่าของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดตามฟ้อง
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 6(7 ทวิ), 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ, 116 พระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10จำคุก 16 ปี คำรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78หนึ่งในสี่ คงจำคุก 12 ริบของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ข้อหานอกจากนี้ให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุก 15 ปี คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำรับตามบัญชีของกลางคดีอาญาของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่7 ตุลาคม 2537 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา พันตำรวจโทวรนิตย์สวนคร้ามดี เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชันกับพวกได้จับนายสมหมายหรือหนู จันทร์แจ่ม จำเลยได้คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1/2538 ของศาลชั้นต้น ต่อจากนั้นเวลา 13.30 นาฬิกาพันตำรวจโทวรนิตย์กับพวกได้เข้าค้นห้องพักจำเลยซึ่งอยู่ที่อาคารห้องชุดของสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชันแล้วได้จับจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดหรือไม่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักรับฟังได้แจ้งชัดว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อขายจึงมิได้อยู่ในความหมายของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 และไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 10 ที่ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยและปรับตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 มาด้วยนั้นยังไม่ถูกต้องแม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้โดยไม่ปรับบทบัญญัติดังกล่าว
กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศอันดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยกระทำความผิดการที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 0.773 กรัม เกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ต้องรับโทษตาม มาตรา 106 ทวิระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เท่านั้นจึงมีผลให้การมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เพียง0.773 กรัม ไม่ถึง 20 กรัม เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทเท่านั้นไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 อีกต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 67 ระวางโทษเบากว่าระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 106 ทวิ ซึ่งใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด จึงเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 67 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195และศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 67 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 0.773 กรัมที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 10 ปีนั้น สูงเกินไป สมควรวางโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ลงโทษจำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี 4 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share