แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษให้ลดโทษลงเพียงใด ถึงขั้นปล่อยตัวไปก็ตาม คำพิพากษาของศาลที่กำหนดโทษไว้เดิมนั้นก็หาได้ถูกลบล้างไปไม่
การที่ศาลทหารกล่าวไว้ในคำพิพากษาให้ยกคำขอที่ขอให้กักกันจำเลย เพราะไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารนั้น หาตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องขอให้กักกันจำเลยต่อศาลที่มีอำนาจไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ฟังได้ว่าจำเลยเคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนมาแล้ว ไม่น้อยกว่าสองครั้งในความผิดฐานลักทรัพย์ และ (ครั้งที่ 2) ความผิดฐานรับของโจรพ้นโทษแล้วภายใน 10 ปี กลับมาทำผิดฐานวิ่งราวทรัพย์อีก และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโทษฐานรับของโจรจริง ๆ เพียง 4 เดือนกับ 3 วันเท่านั้น เพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษ
มีปัญหาว่าศาลจะกักกันได้หรือไม่
ศาลอาญาพิพากษาให้กักกัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ข้อฎีกาของจำเลยที่ว่าโทษครั้งที่ 2 (ฐานรับของโจร) ที่พิพากษาให้จำคุก 8 เดือนนั้น จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษถูกจำคุกจริง ๆ เพียง 4 เดือนกับ 3 วัน จึงไม่เข้ามาตรา 41 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ศาลฎีกาเห็นว่า การที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษนั้น เป็นการใช้อำนาจในทางบริหารซึ่งตราขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา ฉะนั้น แม้จำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ลดโทษลงเพียงใด ถึงขั้นปล่อยตัวไปก็ตามคำพิพากษาของศาลที่กำหนดโทษไว้เดิมนั้น ก็หาได้ถูกลบล้างไปไม่คงยังฟังได้ตามกฎหมายว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาจำคุก 8 เดือน
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา) ให้ยกคำขอให้ลงโทษกักกันแก่จำเลย เช่นนี้ ต้องฟังเป็นยุติ โจทก์จะมาฟ้องศาลอาญาอีกหาได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) กล่าวไว้ในคำพิพากษาว่า คำขอของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษกักกันจำเลยนั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ จึงให้ยกคำขอเสียนั้น หาตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องขอให้ลงโทษกักกันจำเลยโดยเฉพาะต่อศาลอาญาไม่เพราะศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา) ยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องกักกันจำเลยแต่อย่างใด เป็นแต่เห็นว่าคำขอของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) จึงยกคำขอของโจทก์เท่านั้นโจทก์จึงฟ้องต่อศาลอาญาซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้
พิพากษายืน