คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4545/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างที่จำเลยไม่ชำระและเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของค่าจ้างที่ค้างชำระทุกเจ็ดวันนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายจากจำเลย มิได้ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีของค่าจ้างค้างชำระ ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าจ้าง จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วันค้างชำระเป็นต้นไป เว้นแต่จะนำค่าจ้างไปมอบแก่อธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเพื่อให้ลูกจ้างรับไป จึงจะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ เป็นกรรมการรองผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ส่งโจทก์ไปทำงานในประเทศบรูไน ต่อมาจำเลยที่ ๑ สั่งให้โจทก์กลับมาในประเทศไทยแล้ว จำเลยที่ ๓ มอบให้โจทก์ดำเนินการตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้นใหม่ โจทก์เห็นว่าเป็นการเสี่ยงจึงไม่รับดำเนินการ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน ๑๕๐,๔๘๐ บาท กับเงินเพิ่มร้อยละ ๑๕ ของค่าจ้างที่ค้างทุกระยะเวลา ๗ วัน รวมเป็นเงิน ๑,๗๒๘ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๑๕๒,๒๐๘ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และร่วมกันจ่ายค่าจ้างฐานเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าที่ค้างชำระ ค่าชดเชยและค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า เมื่อโจทก์กลับมาจากประเทศบรูไน จำเลยที่ ๑ ได้มอบโครงการจัดตั้งสาขาของจำเลยให้โจทก์ทำ โจทก์ไม่ยอมทำ จำเลยจึงเปลี่ยนโครงการเป็นจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดแทนโดยให้โจทก์เป็นผู้จัดการและร่วมลงทุนด้วย แต่ในที่สุดโจทก์ไม่ยอมดำเนินการอีก และโจทก์ไม่ยอมมาทำงานเป็นเวลา ๑๒ วัน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยถือว่าโจทก์กระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินตามฟ้อง ยกเว้นค่าจ้างที่ค้างชำระสามเดือนซึ่งจำเลยไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ จังหวัดนครปฐมเพราะโจทก์ไม่ยอมรับ จำเลยจึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ ๑๕ แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยค้างค่าจ้างโจทก์เป็นเวลา ๓ เดือนเป็นเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท จำเลยเข้าใจผิดว่ายังค้างอยู่ ๖๕,๘๕๐ บาท จึงนำไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์เท่านั้น จำเลยมิได้จงใจผิดนัด จึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและดอกเบี้ยในยอดเงิน ๖๕,๘๕๐ บาท คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยหลักเกณฑ์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๔) แล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย และเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามในฐานะนายจ้างร่วมกันจ่ายค่าจ้างค้างชำระ ๙๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๒๔,๑๕๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อนายจ้างไม่ชำระค่าจ้างที่ค้างจ่าย นายจ้างจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกจ้างร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายนับแต่วันค้างจ่ายเป็นต้นไปโดยไม่จำต้องพิจารณาว่านายจ้างจงใจผิดนัดหรือไม่ เว้นแต่จะนำเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายไปมอบให้แก่อธิบดีกรมแรงงานหรือแรงงานจังหวัดซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายเพื่อให้ลูกจ้างรับไป จึงจะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย การที่จำเลยนำเงินไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ ไม่เป็นเหตุที่จะหลุดพ้นความรับผิดไปได้ จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างที่ค้างชำระนับแต่วันสิ้นเดือนกันยายน ๒๕๒๙ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มให้โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกเจ็ดวันนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายสำหรับค่าจ้างเดือนกันยายนและตุลาคม ๒๕๒๙ รวมเป็นเงิน ๑,๗๒๘ บาท โจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของค่าจ้างที่ค้างชำระตามที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์

Share