คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4543/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 ได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ ออกมาใช้บังคับแล้วโดยบัญญัติให้ พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ เป็นอันยกเลิกตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไป และกำหนดให้นำ พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจฯ มาใช้บังคับแทน ซึ่งมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. การสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ ที่ถูกยกเลิกบัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และ พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ใช้บังคับแทนมิได้บัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. จำเลยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 147 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 4 พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 4, 5
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรการหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมรวาม 4 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดแต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน เห็นควรลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ให้จำคุกกระทงละ 6 ปี และปรับกระทงละ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 3 ปี และปรับกระทงละ 5,000 บาท รวม 4 กระทง รวมจำคุก 12 ปี และปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ประกอบกับจำเลยชดใช้เงินที่ยักยอกคืนแก่ผู้เสียหายแล้ว โทษจำคุกแต่ละกระทงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดกระทงละ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี 24 เดือน โดยไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี เป็นอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว จึงไม่อาจกำหนดโทษจำคุกให้เป็นเบากว่านี้ได้อีก และลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน มีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวหรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกจำเลย การใช้ดุลพินิจกำหนดโทษและไม่รอการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 4 พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 4, 5 และศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 นั้น ปรากฏว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 ออกมาใช้บังคับแล้ว โดยบัญญัติให้พระราชบัญญัติให้พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 เป็นอันยกเลิกตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไป และกำหนดให้นำพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับแทน ซึ่งมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ที่ถูกยกเลิกบัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ที่ใช้บังคับแทนมิได้บัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา จำเลยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share