แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.รัษฎากร ในหมวด 3 เรื่องภาษีเงินได้ในส่วน 1 ข้อความทั่วไปและส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดเก็บ ภาษีเงินเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อได้รับเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 39 เว้นแต่ไม่ถึงเกณฑ์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ ผู้มีเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้มาในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วพร้อมทั้งข้อความอื่นๆ ภายในเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 56 จากหลักเกณฑ์ตาม ป.รัษฎากรดังกล่าว ผู้มีเงินได้พึงประเมินจึงมีหน้าที่ต้องประเมินภาษีเงินได้โดยตนเองแล้วยื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นหากจำเลยที่ 1 มีเงินได้พึงประเมินที่ถูกต้องแท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ภาษีอากรภายในเดือนมีนาคมของแต่ละปีภาษีถัดไปตามที่ ป.รัษฎากร บัญญัติบังคับไว้ หาใช่หนี้ภาษีอากรจะถึงกำหนดในวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นคดีภาษีอากรแต่อย่างใดไม่ ทั้งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่งนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียหรือนำส่งให้ถือเป็นภาษีอากรค้างซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักรโดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้และจำเลยที่ 1 ก็เป็นลูกหนี้โดยบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากรและอยู่ในความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 237 แล้ว
จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อันมีราคาประเมิน 110,289,400 บาท ซึ่งมีค่ามากที่สุดในจำนวนทรัพย์สินที่อยู่ในนามของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หานั้น ทำให้ทรัพย์สินที่อยู่ในนามของจำเลยที่ 1 น้อยลงไปอีก ทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบและไม่ได้โต้แย้งในฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นที่พอนำมาชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระได้ครบถ้วน แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์สามารถติดตามยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ให้เพียงพอแก่การได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่ให้ครบถ้วน อันเป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ภาษีอากรเสียเปรียบและเป็นการโอนให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาจึงต้องถูกเพิกถอนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคแรก
เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมยกให้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ให้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมกลับมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผลของคำพิพากษา ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติโดยการแสดงเจตนาอีกจึงไม่จำต้องส่งให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนการโอนที่ดินให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 187 และ 1956 ถึง 2035 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่จำเลยที่ 1 ยกให้จำเลยที่ 2 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาโอนที่ดินดังกล่าวกลับคืนเป็นของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 187 และ 1956 ถึง 2035 (ที่ถูกโฉนดเลขที่ 187 และ 1956 ถึง 2001 และ 2004 ถึง 2035) ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่จำเลยที่ 1 ยกให้จำเลยที่ 2 กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนการโอนที่ดินให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การและฎีกาว่า โจทก์โดยสรรพากรอำเภอเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากรและกระทำการแทนโจทก์เป็นผู้แจ้งการประเมินภาษีตามคำสั่งของโจทก์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2536 และยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 มาเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ภาษีอากรตามคำสั่งของโจทก์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2536 โดยมิได้ยึดทรัพย์พิพาทกันในคดีนี้ ถือได้ว่าโจทก์ทราบการโอนที่ดินพิพาทตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2539 เกินกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล ผู้มีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนโจทก์คืออธิบดีหรือรองอธิบดีผู้รักษาราชการแทน การที่เจ้าพนักงานของโจทก์แจ้งการประเมินภาษีสำหรับจำเลยที่ 1 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2536 และยึดทรัพย์จำเลยที่ 1 เพื่อชำระภาษีตามคำสั่งของโจทก์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2536 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ตามกฎหมายเท่านั้นจะถือว่าโจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทไม่ได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาว่า โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2536 อันเป็นวันที่สรรพากรอำเภอเมืองเชียงใหม่ทราบเรื่องการโอนที่ดินพิพาทและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่รายงานความเห็นไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2538 ซึ่งถือว่าโจทก์ทราบเป็นครั้งสุดท้าย แต่มีการฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2539 เกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องนอกคำให้การของจำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่เรื่องที่คู่ความยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่ เพียงใด จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ยังมิได้ถูกโจทก์หรือเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีจำนวนตามฟ้อง เพราะโจทก์หรือเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีตามฟ้องเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2536 หลังจากที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2536 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังไม่เกิดในขณะที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทไปให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งหลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินในวันที่ 10 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยลดภาษีเงินได้ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ยังฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางและอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา จนกระทั่งวันที่ 29 สิงหาคม 2540 คดีดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา ภาษีอากรที่โจทก์หรือเจ้าพนักงานประเมินจึงมีจำนวนเท่าที่ศาลฎีกาพิพากษาซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนการประเมินภาษีอากรถึงที่สุดเป็นเวลา 4 ปี 3 เดือน กรณีนี้จำเลยที่ 1 ยังมิได้อยู่ในฐานะลูกหนี้เป็นที่สุดต้องชำระภาษีอากรตามฟ้องให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าหนี้และจำเลยที่ 1 ก็มิใช่ลูกหนี้ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร ในหมวด 3 เรื่องภาษีเงินได้ในส่วน 1 ข้อความทั่วไปและส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้ธรรมดาเมื่อได้รับเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 เว้นแต่ไม่ถึงเกณฑ์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ผู้มีเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้มาในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วพร้อมทั้งข้อความอื่นๆ ภายในเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 56 จากหลักเกณฑ์ตามประมวลรัษฎากรดังกล่าวผู้มีเงินได้พึงประเมินจึงมีหน้าที่ต้องประเมินภาษีเงินได้โดยตนเองแล้วยื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นหากจำเลยที่ 1 มีเงินได้พึงประเมินที่ถูกต้องแท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ภาษีอากรภายในเดือนมีนาคมของแต่ละปีภาษีถัดไปตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติบังคับไว้ หาใช่หนี้ภาษีอากรจะถึงกำหนดในวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นคดีภาษีอากรแต่อย่างใดไม่ ทั้งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่งนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียหรือนำส่งให้ถือเป็นภาษีอากรค้างซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักรโดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้และจำเลยที่ 1 ก็เป็นลูกหนี้โดยบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรและอยู่ในความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แล้ว ปัญหาต่อไปมีว่าการที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนมีการประเมินภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2531 ถึง 2533 โดยเจ้าพนักงานประเมินนั้นเป็นการกระทำไปโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้รู้ถึงการที่โจทก์ได้ดำเนินการตรวจสอบเงินได้ของจำเลยที่ 1 ในปีภาษี พ.ศ. 2531 ถึง 2533 ที่ยื่นแบบรายการเสียภาษีไว้ไม่ครบถ้วน ซึ่งจะต้องถูกโจทก์เรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมกันแล้วเป็นเงินจำนวนมากหลายร้อยล้านบาท และในสำนวนการตรวจสอบทรัพย์สินของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์รายนายสุบิน รายการทรัพย์สินในนามของจำเลยที่ 1 มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีราคาประเมินรวมกันเป็นเงินจำนวน 167,129,400 บาท และหุ้นถือในนามของจำเลยที่ 1 และนางบุญศรี ภริยาจำเลยที่ 1 รวมจำนวน 84,227,900 บาท และเงินฝากในนามของจำเลยที่ 1 และภริยาจำนวน 393,769.96 บาท อันเป็นทรัพย์สินที่โจทก์อาจดำเนินการยึดมาเพื่อชำระภาษีอากรค้างได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 ซึ่งก็ยังไม่พอกับจำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อันมีราคาประเมิน 110,289,400 บาท ซึ่งมีค่ามากที่สุดในจำนวนทรัพย์สินที่อยู่ในนามของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หานั้น ทำให้ทรัพย์สินที่อยู่ในนามจำเลยที่ 1 น้อยลงไป อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบและไม่ได้โต้แย้งในฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นที่พอนำมาชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระได้ครบถ้วน แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์สามารถติดตามยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ให้เพียงพอแก่การได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่ให้ครบถ้วน อันเป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ภาษีอากรเสียเปรียบ และเป็นการโอนให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาจึงต้องถูกเพิกถอนการโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคแรก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ที่ดินที่พิพาทที่จำเลยที่ 1 ยกให้จำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนการโอนที่ดินให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 นั้นไม่ชอบเนื่องจากโจทก์มิได้ติดใจอุทธรณ์ให้มีคำพิพากษาเพิ่มเติมในส่วนนี้ จึงถือเป็นการพิพากษาเกินคำขอ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท ทั้งๆ ที่โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ มิได้เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์นั้นก็ไม่ชอบ เห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมยกให้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ให้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมกลับมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผลของคำพิพากษา ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติโดยการแสดงเจตนาอีก จึงไม่จำต้องสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนการโอนที่ดินให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ส่วนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เมื่อโจทก์มิใช่ผู้อุทธรณ์และมิได้แก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ไม่ชอบที่จะสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในส่วนที่พิพากษาว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนการโอนที่ดินให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เสีย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก่คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5