คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4540/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯบัญญัติไว้ตอนต้นว่า “ภายในบังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้”ซึ่งรับกับมาตรา 41 ที่บัญญัติว่า “ทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนได้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องและแสดงว่า (1) ผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของหรือ (2) ฯลฯ” ดังนั้น เมื่อจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้แล้ว โจทก์ซึ่งอ้างว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นตามข้ออ้างของตน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันในลักษณะลวดลายประดิษฐ์ คำว่า IM ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าหลายชนิด รวมทั้งสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มและแต่งกาย โดยโฆษณาเครื่องหมายการค้าและส่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวก 38 ต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กระทรวงพาณิชย์ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยอ้างว่าเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์จึงทราบว่าจำเลยได้นำเครื่องหมายการค้านี้ไปจดทะเบียนไว้ก่อนแล้วโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าจำเลย เพราะโจทก์เป็นเจ้าของได้จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแพร่หลายมาก่อนขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่า IM นี้ดีกว่าจำเลย และสั่งให้จำเลยเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 86081 คำขอจดทะเบียนเลขที่ 129509 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและห้ามไม่ให้จำเลยใช้หรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้านี้
จำเลยให้การว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสมเกียรติ สิทธิศิริหรือนายดำเนิน การเด่น หรือนายบุญมา เตชะวณิช ดำเนินคดีนี้หรือไม่ ไม่รับรอง เครื่องหมายการค้าคำว่า IM เป็นเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้ซึ่งใช้กับสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าดังกล่าวจำหน่ายในประเทศไทยเรื่อยมาจนปัจจุบันนี้และได้โฆษณาทางวิทยุและนิตยสารแพรวจนเป็นที่ยอมรับแก่สาธารณชน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 86081 คำขอจดทะเบียนเลขที่ 129509 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยห้ามจำเลยใช้หรือเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้า “IM” ของโจทก์ต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานบุคคลหรือพยานเอกสารที่แสดงว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสมเกียรติ สิทธิศิริ ฟ้องแทนโจทก์นั้น โจทก์มีนายสมเกียรติเบิกความว่า โจทก์มอบอำนาจให้พยานหรือนายดำเนิน การเด่นหรือนายบุญมา เตชะวณิช มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่ผู้ทำละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายจ.1 และ จ.2 (แผ่นที่ 1) ซึ่งมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกของประเทศญี่ปุ่น หัวหน้าที่ทำการกฎหมายโตเกียว และเจ้าพนักงานสถานเอกอัครราชฑูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่นรับรองตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยมิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสมเกียรติ ฟ้องแทนโจทก์ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยเป็นเจ้าของ มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 27แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ บัญญัติไว้ตอนต้นว่า”ภายในบังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้” ซึ่งรับกับมาตรา 41ที่บัญญัติว่า “ทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนได้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องและแสดงได้ว่า(1) ผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของหรือ (2) ฯลฯ” ดังนั้น เมื่อจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้แล้ว โจทก์ซึ่งอ้างว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยและขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาท จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นตามข้ออ้างของตน แต่ตามที่โจทก์นำสืบได้ความแต่เพียงว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า IM กับสินค้าหลายชนิดในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไว้ที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ อีกหลายประเทศเช่น ประเทศแคนาดา ประเทศเยอรมนีตะวันตก ประเทศฝรั่งเศสปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.11 นอกจากนี้นายสมเกียรติผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า โจทก์จะเคยส่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า IM เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหรือไม่และจะมอบให้ใครเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ในประเทศไทยหรือไม่พยานไม่ทราบทั้งพยานไม่เคยเห็นการโฆษณาสินค้าคำว่าIM ในประเทศไทย นายบุญมา เตชะวณิช พยานโจทก์อีกคนหนึ่งก็เบิกความว่า สินค้าของโจทก์จะมีขายในประเทศไทยหรือไม่ พยานไม่ทราบ ที่พยานเห็นเรื่องที่ลงในนิตยสารลลนาและหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นเรื่องเกี่ยวกับสินค้าเสื้อผ้าที่ออกแบบโดยนายอีส มิยาเกะ ซึ่งพยานไม่ทราบว่าใครส่งไปพิมพ์ พยาน และสำนักงานของพยานมิได้เป็นผู้ส่งไปลงพิมพ์ เมื่อได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบซึ่งรวมทั้งคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ส่งสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายการค้าพิพาทเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยได้จดทะเบียน โจทก์จึงนำสืบไม่สมว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทที่ใช้ในประเทศไทยมาก่อนจำเลยผู้จดทะเบียนพยานหลักฐานของโจทก์แสดงไม่ได้ว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยดังที่โจทก์กล่าวอ้าง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share