คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2546 เวลากลางคืนติดต่อกันวัน เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายร่วมกับจำเลยที่ 2 ลักทรัพย์แผ่นอะลูมิเนียมของผู้เสียหายไปโดยทุจริต แม้คำบรรยายฟ้องของโจทก์พอที่จะให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใดและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ตามฟ้องก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุให้ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ซึ่งความจริงเหตุอาจจะเกิดในเวลากลางวันก็ได้ จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยฟังว่าจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ในเวลากลางวัน ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) นั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 83
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (11) จำคุก 4 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 3 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ข้อหารับของโจร และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ข้อหาลักทรัพย์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 3 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานลักทรัพย์ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2546 เวลากลางคืนติดต่อกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายร่วมกับจำเลยที่ 2 ลักทรัพย์แผ่นอะลูมิเนียมของผู้เสียหายไปโดยทุจริต แม้คำบรรยายฟ้องของโจทก์พอที่จะให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใดและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ตามฟ้องก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุให้ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ซึ่งความจริงเหตุอาจจะเกิดในเวลากลางวันก็ได้ จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยฟังว่าจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ในเวลากลางวัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) ด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share