คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4530/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำให้การโดยมิได้โต้แย้งว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง ศาลแพ่งชี้สองสถานกำหนดประเด็นและนัดสืบพยานแบบต่อเนื่อง ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยกลับโต้แย้งอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งมาตั้งแต่แรก กรณีจึงไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจของศาลแพ่งตามที่จำเลยเพิ่งโต้แย้งในภายหลัง และถือได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลตามที่จำเลยอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ส่งสินค้าของจำเลยไปที่ประเทศฝรั่งเศสรวม 4 ครั้ง โจทก์ส่งสินค้าให้แล้วแต่จำเลยยังไม่ได้ชำระค่าจ้างรวม 696,403.08 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยยังเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 696,403.08 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้า แต่เป็นเพียงผู้แนะนำเจ้าของสินค้าให้ไปติดต่อว่าจ้างโจทก์โดยตรงเจ้าของสินค้าได้ชำระค่าจ้างให้โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 696,403.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้เพราะเป็นคดีซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 บัญญัติว่า ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด คดีนี้เมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำฟ้องจนกระทั่งยื่นคำให้การแล้วจำเลยมิได้โต้แย้งว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งแต่อย่างใด ครั้นถึงวันนัดชี้สองสถานวันที่ 27 ธันวาคม 2547 ศาลแพ่งกำหนดประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การไว้ 2 ประเด็น โจทก์แถลงว่าจะสืบพยานรวม 3 ปาก 1 นัด จำเลยแถลงว่าประสงค์จะสืบพยาน 3 ปาก โดยใช้เวลา 1 นัด ศาลแพ่งจึงนัดสืบพยานแบบต่อเนื่องโดยนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 30 สิงหาคม 2548 เวลา 9.00 ถึง 16.30 นาฬิกา และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เวลา 9.00 ถึง 16.30 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 30 สิงหาคม 2548 จำเลยกลับโต้แย้งอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งมาตั้งแต่แรก กรณีจึงไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจของศาลแพ่งตามที่จำเลยเพิ่งโต้แย้งในภายหลัง และถือได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลตามที่จำเลยอุทธรณ์มา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นนี้ให้แก่จำเลย.

Share