คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ว่าข้อขัดแย้งนั้นจะเกิดจากฝ่ายใดเป็นฝ่ายแจ้งหรือข้อเรียกร้อง ถ้าได้ดำเนินการเจรจาตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วแต่มิอาจตกลงกันได้ ซึ่งถือเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้น นายจ้างหรือลูกจ้างย่อมมีสิทธิปิดงานหรือนัดหยุดงานได้แล้วแต่กรณี ไม่ใช่จะมีสิทธิเฉพาะฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ฯ และเป็นลูกจ้างของจำเลย สหภาพแรงงานได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลย ต่อมาจำเลยกับสหภาพแรงงานได้ร่วมกันพิจารณาข้อเรียกร้อง แต่ไม่สามารถตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องบางข้อได้ สหภาพแรงงานจึงแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานรวม ๒ ครั้ง แล้วจำเลยปิดงานโดยไม่มีกำหนดเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยมิได้เป็นฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง ทั้งสหภาพแรงงานมิได้แจ้งแก่จำเลยว่าลูกจ้างจะนัดหยุดงาน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะปิดงานการที่จำเลยปิดงานทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจำต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่ปิดงาน ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่ปิดงานพร้อมทั้งดอกเบี้ยและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิตามกฎหมายที่จะปิดงานได้เพราะพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ ดังนั้นแม้จำเลยจะมิได้เป็นเป็นฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องก็มีสิทธิปิดงานได้ และก่อนที่จำเลยปิดงาน จำเลยได้ปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างและดอกเบี้ยในระว่างที่ปิดงานให้แก่โจทก์ ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องไม่มีสิทธิประกาศปิดงานโดยที่สหภาพแรงงานมิได้แจ้งแก่จำเลยก่อนว่าลูกจ้างจะนัดหยุดงาน การที่จำเลยปิดงานจึงฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา ๒๒ ประกอบด้วยมาตรา ๓๔ ต้องใช้ค่าเสียหายในระหว่างปิดงานให้แก่โจทก์พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างมีความเห็นแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา ๒๒ วรรคสาม ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการปิดงานของนายจ้างและการนัดหยุดงานของลูกจ้างระบุว่า “ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา ๒๖ หรือนายจ้างจะปิดงานหรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อมาตรา ๓๔ ก็ได้ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า กฎหมายได้ให้สิทธิแก่ทั้งสองฝ่าย คือนายจ้างที่จะปิดงานและลูกจ้างที่จะนัดหยุดงานได้เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานและข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ไม่มีข้อความใดอันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไว้ โดยเฉพาะคำว่า “ข้อพิพาทแรงงาน” นั้น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา ๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “หมายความว่าข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” มิได้แบ่งแยกเป็นข้อพิพาทแรงงานของฝ่ายนายจ้างหรือข้อพิพาทแรงงานของฝ่ายลูกจ้าง ฉะนั้น กรณีมีข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ว่าข้อขัดแย้งนั้นจะเกิดจากฝ่ายใดเป็นฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง ถ้าได้ดำเนินการเจรจามาตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว แต่ไม่อาจตกลงกันได้ ย่อมถือว่าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามความหมายในมาตรา ๒๒ วรรคสาม ทั้งสิ้น นายจ้างหรือลูกจ้างย่อมมีสิทธิปิดงานหรือนัดหยุดงานได้แล้วแต่กรณี ไม่ใช่จะมีสิทธิเฉพาะฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้อง อีกประการหนึ่งการที่ทางราชการตราพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ ออกใช้บังคับ ก็โดยมีเจตนาที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นไปโดยวิธีปรองดองและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่มาตรา ๒๒ วรรคสาม จะมุ่งหมายให้สิทธิแก่ฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้องฝ่ายเดียวโดยไม่ให้สิทธิแก่อีกฝ่ายหนึ่ง การที่จะแปลความหมายในมาตรา ๒๒ วรรคสามว่า ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ซึ่งจะทำให้นายจ้างมีสิทธิปิดงานหรือลูกจ้างมีสิทธินัดหยุดงาน หมายถึงข้อพิพาทแรงงานซึ่งตนเป็นฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องนั้นนอกจากจะเป็นการแปลที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว ยังขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว แม้จำเลยจะมิได้เป็นฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง จำเลยก็มีสิทธิที่จะปิดงาน การที่จำเลยปิดงานจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share