คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินและบ้านพิพาทโดยอ้างว่า จำเลยทั้งสามขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์โดยไม่มีการซื้อขายกันจริงเพื่อที่โจทก์จะไปดำเนินการกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. และนำที่ดินและบ้านพิพาทจำนองเป็นประกันหนี้แทนจำเลยทั้งสอง ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทหรือไม่ หากฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่จำเลยทั้งสามให้การไว้ดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามและต้องดำเนินการคืนที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสาม ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามในส่วนที่ขอให้โจทก์รับเงินเพื่อไปไถ่ถอนและจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนให้แก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับฟ้องเดิมชอบที่จำเลยทั้งสามจะฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามที่อ้างว่า จำเลยทั้งสามมอบหมายให้โจทก์ไปดำเนินการกู้ยืมเงินและจำนองที่ดินและบ้านพิพาทแทนจำเลยทั้งสาม แต่โจทก์กลับเบียดบังที่ดินและบ้านพิพาทของจำเลยทั้งสามเป็นของตนเองแล้วนำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อจำเลยทั้งสามให้ได้รับความเสียหาย จึงขอให้โจทก์ชดใช้ค่าทดแทนเดือนละ 50,000 บาท ฟ้องแย้งในส่วนนี้เป็นเงื่อนไขที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงก่อนว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของที่แท้จริง แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าโจทก์จงใจที่จะกระทำละเมิดจำเลยทั้งสามโดยแกล้งฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามให้ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท รวมทั้งพิจารณากำหนดค่าทดแทนตามที่จำเลยทั้งสามขอในคำขอท้ายฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามในส่วนนี้จึงเป็นการอ้างว่าโจทก์จงใจทำละเมิดจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคนละเรื่องกับฟ้องเดิมและเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 179 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5512 และ 6373 ตำบลเหมืองหม้อ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 77, 77/1, 77/2 และ 14/1 โดยจำเลยทั้งสามขายให้โจทก์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2548 หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการนำบ้านทั้ง 2 หลัง ออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าหลังละ 3,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2548 ไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านดังกล่าวของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2548 จำเลยทั้งสามตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์โดยไม่มีเจตนาซื้อขายกันจริงเพื่อให้โจทก์ไปกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์และนำที่ดินและบ้านพิพาทจำนองเป็นประกันหนี้แทนจำเลยทั้งสามเมื่อโจทก์ได้รับเงินกู้แล้ว โจทก์หักค่าใช้จ่ายจำนวน 118,000 บาท หักค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประมาณ 35,000 บาท หักชำระหนี้กู้ยืมเงินโจทก์ของนางสาวองคมัย บุตรจำเลยที่ 2 และหลานจำเลยที่ 1 และที่ 3 อีก 200,000 บาท คงส่งมอบเงินส่วนที่เหลือแก่นางสาวองคมัยเพียง 827,000 บาท โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท แต่โจทก์มีชื่อในโฉนดที่ดินในฐานะตัวแทนจำเลยทั้งสามในการกู้ยืมเงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย การกระทำของโจทก์จงใจให้จำเลยทั้งสามได้รับความเสียหายถือเป็นละเมิด ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์รับเงินจำนวน 1,180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองจากจำเลยทั้งสามเพื่อดำเนินการไถ่ถอนที่ดินและบ้านพิพาทและจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยทั้งสามด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์และส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสาม หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท แก่จำเลยทั้งสามนับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าโจทก์จะปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องแย้งเสร็จสิ้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การจำเลยทั้งสาม ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามเห็นว่า ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้ง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้จำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางไฉน และนายภควรรต เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่าคำฟ้องเดิมและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามมีข้อพิพาทในกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสามมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท จึงมีประเด็นข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งโต้แย้งกันอยู่พร้อมบริบูรณ์ในวันที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินและบ้านพิพาทโดยอ้างว่า จำเลยทั้งสามขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์โดยไม่มีการซื้อขายกันจริงเพื่อที่โจทก์จะไปดำเนินการกู้ยืมเงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์และนำที่ดินและบ้านพิพาทจำนองเป็นประกันหนี้แทนจำเลยทั้งสาม ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทหรือไม่ ซึ่งหากฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่จำเลยทั้งสามให้การไว้ว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยโจทก์มีชื่อในโฉนดที่ดินที่พิพาทเพียงในฐานะตัวแทนของจำเลยทั้งสาม โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามและต้องดำเนินการคืนที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสาม ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามในส่วนที่ขอให้โจทก์รับเงินเพื่อไปไถ่ถอนและจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนให้แก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้องแย้งข้อที่ 2 จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับฟ้องเดิมชอบที่จำเลยทั้งสามจะฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามที่อ้างว่า จำเลยทั้งสามมอบหมายให้โจทก์ไปดำเนินการกู้ยืมเงินและจำนองที่ดินและบ้านพิพาทแทนจำเลยทั้งสาม แต่โจทก์กลับเบียดบังที่ดินและบ้านพิพาทของจำเลยทั้งสามเป็นของตนเองแล้วนำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อจำเลยทั้งสามให้ได้รับความเสียหาย จึงขอให้โจทก์ชดใช้ค่าทดแทนเดือนละ 50,000 บาท นั้น เห็นว่า ฟ้องแย้งส่วนนี้ของจำเลยทั้งสามเป็นเงื่อนไขที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงก่อนว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของที่แท้จริง แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าโจทก์จงใจที่จะกระทำละเมิดจำเลยทั้งสามโดยแกล้งฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามให้ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท รวมทั้งพิจารณากำหนดค่าทดแทนตามที่จำเลยทั้งสามขอในคำขอท้ายฟ้องแย้งข้อที่ 3 ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามในส่วนนี้จึงเป็นการอ้างว่าโจทก์จงใจทำละเมิดจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคนละเรื่องกับฟ้องเดิมและเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 179 วรรคท้าย ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามทั้งหมดและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามในส่วนที่เกี่ยวกับขอให้โจทก์รับเงินของจำเลยทั้งสามเพื่อไปไถ่ถอนและจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนให้แก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้องแย้งข้อที่ 2 ไว้พิจารณาต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share