คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อเจ้ามรดกเป็นพระภิกษุถึงแก่มรณภาพโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้เงินของเจ้ามรดกที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นสมบัติของผู้คัดค้านซึ่งเป็นวัดที่เป็นภูมิลำเนาของเจ้ามรดก แม้ผู้ร้องที่ 2 จะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้วและเป็นทายาทโดยธรรมก็หามีสิทธิในเงินดังกล่าวไม่ จึงไม่ใช่ทายาทสำหรับเงินจำนวนนี้ และมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนายเจริญ ดามาพงศ์ หรือพระครูเจริญดามาพงศ์ โดยได้แต่งงานตามประเพณีนิยม และทำมาหากินร่วมกันตลอดมา มีบุตรด้วยกันสองคน คือ ผู้ร้องที่ 2 และนางสุดา ศรีโสภณซึ่งนายเจริญให้การรับรองว่าเป็นบุตรแล้ว ต่อมา เมื่อปี 2508นายเจริญได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและถึงแก่มรณภาพขณะที่เป็นพระภิกษุในวันที่ 30 ธันวาคม 2528 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนถึงแก่มรณภาพ นายเจริญหรือพระครูเจริญมีทรัพย์มรดกเป็นเงินฝากไว้ในธนาคารหลายแห่งรวมจำนวน 1,200,000 บาท การจัดการมรดกของพระครูเจริญมีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องทั้งสองมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของพระครูเจริญผู้มรณภาพ
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 มิได้เป็นภรรยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพระครูเจริญ ดามาพงศ์ ทั้งตามบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของพระครูเจริญเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน ผู้ร้องทั้งสองไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของผู้คัดค้านจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอจัดการมรดก ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายเจริญหรือพระครูเจริญ ดามาพงศ์ ผู้มรณภาพ โดยให้ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องคัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าผู้ร้องที่ 1 ได้แต่งงานตามประเพณีนิยมและอยู่กินเป็นสามีภรรยากับนายเจริญ ดามาพงศ์ ตลอดมาจนมีบุตรสองคน คือผู้ร้องที่ 2 และนางสุดา ศรีโสภณ แต่มิได้จดทะเบียนสมรสต่อมามารดาของนายเจริญถึงแก่กรรม ในปี 2508 นายเจริญ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่ที่วัดสน เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร นานประมาณ11 ปี จึงย้ายมาจำพรรษาและดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดทุ่งครุผู้คัดค้านตั้งแต่ปี 2518 ตลอดมา จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพในวันที่ 30 ธันวาคม 2528 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ขณะที่พระครูเจริญหรือพระครูพิพิธพัฒโนดม ถึงแก่มรณภาพ มีเงินฝากไว้ในธนาคารต่าง ๆ เป็นเงิน 1,020,000 บาท มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้ร้องที่ 2 เป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของพระครูเจริญหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623บัญญัติว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรมและมาตรา 1624 บัญญัติว่าทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้สำหรับคดีนี้ผู้ร้องทั้งสองนำสืบว่า ทรัพย์สินของพระครูเจริญที่มีอยู่ก่อนอุปสมบทมีเพียงที่นา 40 ไร่ ที่จังหวัดชัยนาท เท่านั้นหาได้นำสืบว่าพระครูเจริญมีเงินอยู่ก่อนอุปสมบทเป็นจำนวนเท่าใดผู้คัดค้านนำสืบว่าเงินฝากของพระครูเจริญที่ฝากไว้ในธนาคารต่าง ๆเป็นเงินที่ประชาชนบริจาคให้ผู้คัดค้านทั้งปรากฏว่าพระครูเจริญอุปสมบทเป็นพระภิกษุมาตั้งแต่ปี 2508 ก่อนถึงแก่มรณภาพถึง20 ปี เป็นระยะเวลานานมาก เงินฝากในธนาคารต่าง ๆ ในนามของพระครูเจริญ เชื่อได้ว่าเป็นเงินที่พระครูเจริญได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ทั้งปรากฏว่า พระครูเจริญถึงแก่มรณภาพโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้เงินฝากในธนาคารต่าง ๆ จึงตกเป็นสมบัติของผู้คัดค้าน เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าเงินฝากในธนาคารต่าง ๆ ดังกล่าว เป็นเงินที่ประชาชนบริจาคให้แก่ผู้คัดค้านหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงผู้ร้องที่ 2 แม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่พระครูเจริญได้รับรองแล้วและเป็นทายาทโดยธรรมก็หามีสิทธิในเงินจำนวนดังกล่าวไม่ ผู้ร้องที่ 2จึงมิใช่ทายาทของพระครูเจริญสำหรับเงินจำนวนนี้ ไม่มีส่วนได้เสียที่จะมาร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share