คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา340 ตรี เป็นเพียงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตราที่ระบุไว้ได้รับโทษหนักขึ้นเท่านั้น หาได้เป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่งไม่ และไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มโทษดังนั้นเมื่อลงโทษให้ประหารชีวิตแล้วก็ไม่มีทางที่จะระวางโทษหนักกว่าหรือหนักขึ้นกึ่งหนึ่งตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี บัญญัติไว้ได้ จึงนำ มาตรา 340 ตรี นี้มาปรับด้วยไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืน ปรับ 75 บาท ฐานพกปืนข้อหาอื่นยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 340 และ 340 ตรี ฐานปล้นและยิงคนตาย แต่ลงโทษตาม มาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้ประหารชีวิต ลดโทษตามมาตรา 78 ให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 52(1) เปลี่ยนเป็นจำคุก50 ปี ตามมาตรา 91 รวมกับโทษที่ศาลชั้นต้นวางไว้เป็นจำคุก 51 ปี ปรับ 75 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 340 และ 340 ตรีลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดนั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา 340 ตรี เป็นเพียงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้รับโทษหนักขึ้นเท่านั้น ลำพังแต่เพียงมาตรานี้โดยเฉพาะแล้วหาได้เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ ทั้งกรณีรับโทษหนักขึ้นเป็นคนละเรื่องกับการเพิ่มโทษและหาใช่เป็นเรื่องการเพิ่มโทษไม่ และเมื่อลงโทษให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะระวางโทษหนักกว่าหรือหนักขึ้นกึ่งหนึ่งตามที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ตรี บัญญัติไว้จึงนำมาตรา 340 ตรีมาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 340 วรรคสุดท้าย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 340 วรรคสุดท้าย ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 340 วรรคสุดท้ายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 คำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตามมาตรา 91 และรวมกับโทษที่ศาลชั้นต้นลงไว้แล้วเป็นจำคุก 51 ปี ปรับ 75 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share