แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน จึงเป็นเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ทั้งได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอให้ทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 27 ของกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตาม ประมวลกฎหมายอาญา แม้ต่อมาทางราชการจะได้ตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่เช่นเดียวกับจำเลยขึ้นมาอีกคณะหนึ่งก็ไม่เป็นการยกเลิกเพิกถอนหน้าที่ของจำเลยตามคำสั่งของนายอำเภอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 จำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “นายอำเภอเมืองชุมพรได้แต่งตั้งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน (หมู่บ้านที่เกิดอุทกภัย) เป็นเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายจากอุทกภัย แล้วให้ผู้ใหญ่บ้านทำเรื่องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบการจ่ายเงิน แล้วจำเลยข่มขืนใจหรือจูงใจให้นายเฉลิม (ลูกบ้านจำเลยที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย)มอบเงินที่รับความช่วยเหลือจากการถูกอุทกภัยให้จำเลย 3,000 บาท ดังนี้เห็นว่าเมื่อจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน อันเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอให้ทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 ข้อ 1 ของกฎหมายดังกล่าว จึงเข้าลักษณะที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาถึงแม้ต่อมาทางราชการได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายตามเอกสารหมาย จ.2 โดยไม่มีจำเลยเป็นกรรมการด้วยก็ตาม แต่คำสั่งตามเอกสารหมาย จ.2 นั้นก็ไม่มีการยกเลิกเพิกถอนหน้าที่ของจำเลย ตามที่นายอำเภอเมืองชุมพรมีคำสั่ง จำเลยจึงจะนำมาอ้างว่าไม่ได้กระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานนั้นไม่ได้ ข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกามาฟังไม่ขึ้นศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน