แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาจำเลยกล่าวถึงฟ้อง คำให้การและคำวินิจฉัยศาลล่าง แล้วฎีกาว่า ตามที่ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นยังขัดต่อข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงซึ่งได้จากคำให้การของโจทก์อันเป็นการอธิบายฟ้องของโจทก์ที่จะปรับเข้ากับข้อกฎหมายได้แล้ว แม้จะให้สืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปอีกก็ไม่มีเหตุที่จะทำข้อกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับตามฟ้องเปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบและยกฟ้อง โจทก์จึงชอบแล้ว ดังนี้ ไม่ใช่ฎีกาย่อ ไม่ขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225, 247
ข้อตกลงระหว่างทายาทที่ให้แบ่งที่ดินส่วนหนึ่งไว้เป็นทางภารจำยอมนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ย่อมไม่บริบูรณ์ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ผู้รับโอน ที่ดินแปลงอื่นจากทายาทคนหนึ่งไม่มีสิทธิจะฟ้องทายาทเหล่านั้นให้เปิดทางภารจำยอมได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลย ที่ ๑ – ๓ – ๔ – ๕ กับนายเหลือได้รับมรดกที่ดินโฉนดจากนายอยู่ ๑ แปลง แล้วได้ขอแบ่งแยกออกเป็น ๑๑ แปลง ๑๑ โฉนด โดยทายาททั้ง ๕ นี้ตกลงแบ่งที่ดินกันคนละ ๒ แปลง ส่วนแปลงที่ ๑ ได้แบ่งไว้เป็นทางเดิน เพื่อให้บุคคลในที่ดินแปลงที่ ๗ – ๘ – ๙ – ๑๐ – ๑๑ ได้ใช้เดินออกสู่ถนนสาธารณ และใส่ชื่อจำเลย ทั้ง ๔ กับนายเหลือถือกรรมสิทธิ์รว่มกันในโฉนดแปลงที่ ๑ นั้นต่อมาจำเลยที่ ๑ ขายฝากที่ดินกับเรือนในแปลงที่ ๑๑ ให้โจทก์และหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ ่ต่อมาจำเลยที่ ๓ – ๔ – ๕ ได้เปิดทางเดินขึ้นใหม่ แล้วจำเลยที่ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ ต่างปลูกสร้างอาคารลงบนที่ดินแปลงที่ ๑ ปิดทางเดินเก่า จึงขอให้บังคับรื้อ โรงเรือนออกไป และให้จำเลยที่ ๒ – ๓ – ๔ จดทะเบียนทางภารจำยอม ด้วย
จำเลยให้การว่า การแบ่งแยกที่ดินเป็น ๑๑ โฉนดนั้น ไม่ได้แบ่งแปลงที่ ๑ ไว้เป็นทางเดิน ไม่เคยใช้แปลงนี้เป็นทางเดิน โจทก์มีทางเดินอยู่แล้ว ๒ ทาง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นสืบตัวโจทก์ได้คนเดียว แล้วสั่งงดและพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้พิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา โจทก์แก้ฎีกาว่า ฎีกาจำเลยเป็นฎีกาย่อ
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาจำเลยข้อ ๑ ได้บรรยายฟ้อง คำให้การและคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ และข้อ ๒ กล่าวว่า ตามที่ศาลอุทธรณ์ ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสียนั้น ัดต่อข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงซึ่งได้จากคำให้การของโจทก์อันเป็นการอธิบายฟ้องของโจทก์ที่จะปรับเข้ากับข้อกฎหมายได้แล้ว แม้จะให้สืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปอีกก็ไม่มีเหตุที่จะทำข้อกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับตามฟ้องเปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบและยกฟ้อง โจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนี้ ไม่จำต้องระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างใดอีก ไม่ขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕, ๒๔๗
ส่วนปัญหาว่าจะควรสืบพยานต่อไปหรือไม่นั้น เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องสืบเพราะโจทก์อ้างว่าที่ดินแปลงที่ ๑ เป็นทางภารจำยอมโดยทายาทของนายอยู่ตกลงไว้เช่นนั้น อันเป็นภารจำยอม ที่เกิดขึ้นโดยนิติกรรม ซึ่งถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ย่อมไม่บริบูรณ์ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ แต่ทายาทเพียงแต่ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้จดทะเบียนให้ภารจำยอมจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิภารจำยอมแก่เข้าของที่ดินแปลงอื่นหรือโจทก์ผู้รับโอน ทั้งโจทก์รับโอนที่ดินแปลงที่ ๑๑ มิได้รับโอนส่วนของจำเลย ที่ ๑ ในที่ดินแปลงที่ ๑ ด้วย โจทก์จะอาศัยสิทธิของจำเลยที่ ๑ ในที่ดิน แปลงที่ ๑ อย่างใดด้วยไม่ได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น