แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มิได้ฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยโดยอ้างว่ามีเหตุที่ทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรง อยู่ต่อไป และในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แต่เพียงว่า สัญญาเข้าหุ้นส่วนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกันเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินกิจการของหุ้นส่วนตามที่ตกลงกัน ทำให้กิจการของหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไป จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วย กระบวนพิจารณา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๒๖ จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน ได้นำความเท็จมาหลอกลวงโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของโรงงานผลิตไม้บรอนซ่า โรงงานพร้อมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๙๕๑ ตำบลบางแค (หลักสอง) เขตภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร เป็นของจำเลย จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตไม้บรอนซ่า แต่ไม่มีทุนพอขยายกิจการ โรงงานพร้อมทั้งที่ดินก็น่าไปประกันเงินกู้ธนาคารไว้ ตลาดต้องการไม้บรอนซ่าจำนวนมาก ถ้าโจทก์ร่วมลงทุนด้วยจะจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดหากกิจการเจริญดีก็จะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด โดยถือหุ้นฝ่ายละส่วนเท่ากัน โจทก์หลงเชื่อ จึงทำสัญญาเข้าหุ้นกับจำเลยทั้งสองตามสัญญาลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๖ แต่หลังจากทำสัญญาแล้วปรากฏว่าที่ดินพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยอ้างว่าเป็นของตนนั้น ความจริงตกเป็นของธนาคารกรุงไทย จำกัด ไปแล้วมิได้ดำเนินกิจการอะไร เป็นเพียงที่อยู่อาศัยของจำเลยและครอบครัวและจำเลยทั้งสองไม่มีความสามารถในการผลิตไม้บรอนซ่าสัญญาเข้าหุ้นส่วนที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงให้โจทก์ทำจึงเป็นโมฆะต่อมาโจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๙๕๑ พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และลงทุนปรับปรุงโรงงานพร้อมทั้งอุปกรณ์และวัสดุ สิ้นเงินไปสองแสนห้าหมื่นบาทเศษ จนโรงงานพร้อมที่จะทำการผลิตได้ แต่จำเลยทั้งสองได้บังอาจหลอกลวงเอาสัญญาเข้าหุ้นที่ทำกันไว้ไปแก้ไขและทำลายโดยการขีดฆ่าเสียโดยอ้างว่าจะเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นจากจำเลยที่ ๒ เป็นบุตรสาวของจำเลย แล้วจำเลยทั้งสองไม่ทำสัญญาใหม่ ไม่ดำเนินกิจการไล่คนงานออก ปิดโรงงานและลักลอบเอาอุปกรณ์และวัสดุไปขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการผิดสัญญาและละเมิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเท่ากับจำนวนเงินที่ได้ลงทุนปรับปรุงโรงงานไป จำเลยทั้งสองอยู่ในโรงงานและที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ เพราะสัญญาเข้าหุ้นตกเป็นโมฆะและได้เลิกสัญญากันแล้ว โจทก์ทวงเงินค่าเสียหายที่โจทก์ได้ลงทุนไป และขอร้องให้จำเลยทั้งสองขนย้ายออกไปจากโรงงานและที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ถ้าโจทก์นำโรงงานและที่ดินออกให้เช่า จะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ๓,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากโรงงานคือบ้านเลขที่ ๖๓/๑ และที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๙๕๑ ตำบลบางแค(หลักสอง) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไปและให้ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะขนย้ายออกไป
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองทำการผลิตไม้บรอนซ่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ที่ดินที่ตั้งโรงงานเคยเป็นของจำเลยที่ ๒ ได้ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารกรุงไทยจำกัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ แต่ธนาคารกรุงไทย จำกัด มีข้อตกลงกับจำเลยที่ ๒ ว่า ถ้าจะขายจะต้องขายให้แก่จำเลยที่ ๒ ก่อนโจทก์ทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนโดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินของจำเลยตกเป็นของธนาคารกรุงไทย จำกัด ก่อนทำสัญญาโจทก์ก็ไปดูกิจการและการผลิตของจำเลย หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยทั้งสองยังพาโจทก์ไปติดต่อขอผ่อนชำระค่าที่ดินต่อธนาคารกรุงไทย จำกัดซึ่งธนาคารก็ตกลงยินยอม ปรากฏตามสำเนาหนังสือของธนาคารเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๑ จำเลยเพิ่งจะหยุดทำการผลิตเพื่อปรับปรุงโรงงานเมื่อโจทก์เข้ามาร่วมลงทุน จำเลยต้องหยุดปรับปรุงโรงงานเพราะโจทก์อ้างว่าไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำมาลงทุนโจทก์แอบไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากธนาคารโดยไม่บอกจำเลยที่ ๒ด้วยเจตนาจะฮุบ เอากิจการทั้งหมดเป็นของตนแต่ผู้เดียววัสดุอุปกรณ์ที่อ้างว่าจำเลยลักลอบไปขายความจริงโจทก์ขนไปเองตามใบรับของท้ายคำให้การหมายเลข ๓ และเป็นผู้ประตูโรงงานเองจำเลยมิได้หลอกลวงเอาสัญญาจากโจทก์ไปทำลาย การแก้ไขสัญญาทำไปตามความสมัครใจของโจทก์ แต่ทำเสร็จแล้วโจทก์กลับไม่ยอมลงชื่อ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และไม่เคยบอกเลิกสัญญากับจำเลยจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่พิพาทได้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเข้าหุ้นส่วนโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและเรียกค่าเสียหาย โรงงานพิพาทไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ถึงจะนำออกให้เช่าก็ไม่มีใครเช่า การผิดสัญญาของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยขอคิดค่าเสียหายฐานผิดสัญญา ๕๐,๐๐๐ บาท ค่าคิดแบบแปลน ค่าแรง และค่าควบคุมงานในการทำห้องอบไม้ ๕๐,๐๐๐ บาท ในการทำถังสูญญากาศ ๕๐,๐๐๐ บาทและค่าขาดรายได้นับแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๖ ถึงวันที่ ๒๖ธันวาคม ๒๕๒๖ เป็นเวลา ๕ เดือน เดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน๑๕๐,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง และขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้ผิดสัญญา จำเลยทั้งสองมิได้รับความเสียหายเพราะยังมิได้ใช้ความคิดและความชำนาญอย่างใดในการผลิตไม้บรอนซ่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์สัญญาร่วมลงทุนเข้าหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยชอบด้วยกฎหมายและทั้งสองฝ่ายยังมิได้ตกลงเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย แต่โจทก์ก็มิได้ผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากโรงงานซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๙๕๑ ตำบลบางแคเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไปให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๑,๕๐๐ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไป
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินและโรงงานพิพาท โดยอ้างว่าโจทก์ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงให้ทำสัญญาร่วมลงทุนเข้าหุ้นส่วน โดยจำเลยทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าที่ดินและโรงงานพิพาทเป็นของจำเลย จำเลยเพียงแต่นำไปประกันหนี้กับธนาคาร และจำเลยที่ ๑ ไม่มีความรู้ในการผลิตไม้บรอนซ่า สัญญาที่ทำกันไว้จึงตกเป็นโมฆะกับอ้างเหตุอีกประการหนึ่งว่า หลังจากทำสัญญาและโจทก์ได้ซื้อที่ดินและโรงงานพิพาทจากธนาคารกรุงไทย จำกัด มาเป็นของตนแล้วจำเลยยังหลอกลวงเอาสัญญาไปแก้ไขและทำลายโดยการขีดฆ่าเสียสัญญาที่ทำกันไว้จึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินและโรงงานพิพาท โจทก์หาได้ฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลย โดยอ้างว่ามีเหตุที่ทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้แต่อย่างใดไม่ ยิ่งกว่านั้นในการชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แต่เพียงว่าสัญญาเข้าหุ้นส่วนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะไปวินิจฉัยให้ห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกันเพราะมีเหตุที่ทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกันเพราะจำเลยที่ ๑ ไม่ดำเนินกิจการของหุ้นส่วนตามที่ตกลงกันทำให้กิจการของหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแห่งคดี ไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณา
สำหรับปัญหาที่ว่า สัญญาร่วมลงทุนเข้าหุ้นระหว่างโจทก์และจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้เสร็จไปในชั้นนี้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ และศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยหลอกลวงให้ทำสัญญา สัญญาร่วมลงทุนเข้าหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย และตามสัญญากำหนดให้ซื้อมาเพื่อเป็นทรัพย์สินของหุ้นส่วน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและโรงงานพิพาท
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์