แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันในวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยระบุว่า จำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2523 ซึ่งแสดงว่าได้กำหนดวันสิ้นสุดของสัญญาให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันทราบ ตามปกติจำเลยที่ 2ต้องรับผิดเฉพาะหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นไว้ต่อโจทก์ ภายในวันที่31 มีนาคม 2523 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมหรือร่วมรู้เห็นด้วยในการที่โจทก์และจำเลยที่ 1 กู้เงินกันและชำระเงินกันโดยไม่ถือเอากำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญากู้เงินเป็นสาระสำคัญ และกรณีมิใช่เป็นเรื่องโจทก์เจ้าหนี้ผ่อนเวลาชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่จะถือเอาว่าจำเลยที่ 2 รับรู้ด้วยตามข้อยกเว้นในสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้เงินกู้ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 31 มีนาคม 2523
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 270,681 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 233,705 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ตามสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2523 แต่ตามฟ้องโจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้เงินไปเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2528 ระยะเวลาจึงล่วงเลยกำหนดที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินกู้คืนถึง 5 ปี ไม่ปรากฏว่าภายในระยะเวลาวันที่ 31 มีนาคม 2523 จำเลยที่ 1 มีหนี้สินใด ๆ กับโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ร่วมกันชำระเงินจำนวน 270,681 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 233,705 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากหนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนี้ที่เกิดขึ้นภายในกำหนดสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.4 ที่จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันไว้ หากแต่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังพ้นกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้แล้ว ศาลฎีกาได้พิจารณาหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.7 ประกอบกับหนังสือสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว เห็นว่า เมื่อวันที่ 30มีนาคม 2522 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวในวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้เงินจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4ซึ่งในข้อ 4 ระบุไว้ชัดแจ้งว่าผู้กู้สัญญาว่าจะชำระหนี้ตามสัญญานี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2523 แสดงว่าสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.4 กำหนดวันสิ้นสุดของสัญญาไว้ให้จำเลยที่ 2ทราบแล้วคือวันที่ 31 มีนาคม 2523 ตามปกติก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2ต้องรับผิดเฉพาะหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นไว้ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 1 เท่านั้น กล่าวโดยเฉพาะก็คือ หนี้ที่มีอยู่แล้วภายในวันที่ 31 มีนาคม 2523 อันเป็นวันสุดท้ายของสัญญากู้เงินนั้น แม้โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ถือปฏิบัติต่อกันในการกู้เงินโดยมิได้ถือว่าสัญญากู้เงินตามเอกสารหมายจ.4 ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2523 ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏเลยว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ตกลงยินยอมหรือร่วมรู้เห็นด้วย การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 กู้เงินกันและชำระเงินกันโดยไม่ถือเอากำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นสาระสำคัญนั้นเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น และกรณีมิใช่เป็นเรื่องโจทก์เจ้าหนี้ผ่อนเวลาชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่จะถือเอาว่าจำเลยที่ 2 รับรู้ด้วยตามข้อยกเว้นในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 3 เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมหรือร่วมรู้เห็นในการที่โจทก์และจำเลยที่ 1กู้เงินกันเมื่อภายหลังล่วงพ้นกำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เกี่ยวกับหนี้ตามฟ้อง เพราะเป็นหนี้ที่อยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่ทำการค้ำประกันไว้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์