คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2004/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในเดือนกรกฎาคม 2535 โจทก์มียอดซื้อเพียง 19,562.69 บาทและมีภาษีซื้อ 1,369.38 บาท โดยยอดซื้อดังกล่าวมียอดซื้อที่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์เพียง 2,144.87 บาท ขอภาษีคืนตามกฎหมายได้เพียง 150.13 บาท แต่โจทก์ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงรายการภาษีไว้ผิดพลาดไม่ถูกต้อง โดยแสดงตัวเลขยอดซื้อไว้เป็น 19,562,069 บาท ยอดภาษีซื้อ 1,369,344.83 บาท ภาษีขายไม่มี และขอภาษีคืนเป็นจำนวนเงิน 1,369,344.83 บาท ดังนั้นการยื่นแบบแสดงรายการของโจทก์จึงเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป โจทก์จึงต้องเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินตาม ประมวลรัษฎากรมาตรา 89(4) แม้จะเป็นการกระทำไปโดยมีเจตนาหรือไม่โจทก์ก็ยังคงต้องรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์ตรวจพบข้อผิดพลาดแล้วโจทก์ได้ทำหนังสือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่เกี่ยวข้องทราบ และได้ให้ความร่วมมือกับจำเลยด้วยดี ทั้งข้อผิดพลาดของโจทก์ก็ยังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยจึงสมควรลดเบี้ยปรับให้โจทก์ลงอีกร้อยละ 25

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) หรือหากศาลเห็นว่าโจทก์กระทำผิดจริง ขอให้ลดเบี้ยปรับลงในจำนวนที่เป็นธรรมแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า ความรับผิดในการเสียเบี้ยปรับเนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด เป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(4) ไม่จำต้องเกิดจากการกระทำโดยเจตนาตามที่โจทก์อ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 เมื่อวันที่11 สิงหาคม 2535 โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.30) ประจำเดือนภาษีกรกฎาคม 2535 โดยแสดงยอดซื้อที่เสียภาษีแล้วจำนวนเงิน 19,562,069 บาท มีภาษีซื้อเป็นจำนวนเงิน 1,369,344.83 บาท และโจทก์ได้แสดงความประสงค์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนเงิน 1,369,344.83 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 11 และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2535 โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยว่า โจทก์ได้กรอกรายละเอียดในแบบแสดงรายการดังกล่าวผิดพลาดไป โดยความจริงโจทก์มียอดซื้อที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงินเพียง 19,562.69 บาท และมีภาษีซื้อเป็นจำนวนเงินเพียง 1,369.38 บาท หลังจากนั้นประมาณเดือนเมษายน 2536เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของจำเลยได้ออกตรวจปฏิบัติการที่บริษัทโจทก์จากการตรวจสอบเอกสารพลว่าในเดือนภาษีกรกฎาคม 2535 โจทก์มียอดซื้อที่เสียภาษีแล้วจำนวน 19,562.69 บาท และมีภาษีซื้อจำนวน1,369.38 บาท โดยโจทก์มียอดซื้อที่เกี่ยวข้องกับกิจการของโจทก์เพียง 2,144.87 บาท คิดเป็นภาษีซื้อที่โจทก์สามารถขอคืนได้เพียง150.13 บาท ซึ่งจำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังโจทก์เพื่อให้โจทก์ชำระภาษีเป็นเงิน 1,369,044 บาท และโจทก์ได้รับแล้วโจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าวจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยืนตามการประเมิน แต่ให้ลดเบี้ยปรับลง คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 40 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่าโจทก์จะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89(4) หรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในเดือนกรกฎาคม 2535 โจทก์มียอดซื้อเพียง 19,562.69 บาท และมีภาษีซื้อ 1,369.38 บาท โดยยอดซื้อดังกล่าวมียอดซื้อที่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์เพียง 2,144.87 บาท ขอภาษีคืนตามกฎหมายได้เพียง150.13 บาท แต่โจทก์ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงรายการภาษีไว้ผิดพลาดไม่ถูกต้อง โดยแสดงตัวเลขยอดซื้อไว้เป็น 19,562,069 บาท ยอดภาษีซื้อ1,369,344.83 บาท ภาษีขายไม่มี และขอภาษีคืนเป็นจำนวนเงิน1,369,344.83 บาท ดังนั้น การยื่นแบบแสดงรายการของโจทก์จึงเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไปโจทก์จึงต้องเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(4) แม้จะเป็นการกระทำไปโดยมีเจตนาหรือไม่ โจทก์ก็ยังคงต้องรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า สมควรจะลดเบี้ยปรับให้โจทก์ลงอีกหรือไม่ ในข้อนี้ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ตรวจพบข้อผิดพลาดแล้วโจทก์ได้ทำหนังสือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่เกี่ยวข้องทราบและได้ให้ความร่วมมือกับจำเลยด้วยดี ทั้งข้อผิดพลาดของโจทก์ก็ยังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยจึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับให้โจทก์ลงอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เรียกเก็บเบี้ยปรับจากโจทก์ลงเหลือร้อยละ 25 คิดเป็นจำนวนเงิน 342,261 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share