คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2258/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดโดยร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าใบชากลิ่นมะลิ ตราดอกทานตะวันของบริษัทผู้เสียหายและร่วมกันจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายปลอมดังกล่าวแก่ประชาชนเมื่อระหว่างวันที่1มกราคม2531ถึงวันที่28กรกฎาคม2531วันเวลาใดไม่ปรากฎชัดส่วนในคำฟ้องคดีเดิมระบุว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดทั้งสองกรรมดังกล่าวเมื่อวันที่19มกราคม2531เวลากลางวันเห็นได้ว่าเวลากระทำผิดตามฟ้องคดีนี้กับคดีเดิมเป็นเวลาเดียวกันเพราะแม้คำฟ้องคดีนี้จะระบุว่าเวลากระทำผิดเป็นระหว่างวันที่1มกราคม2531ถึงวันที่28กรกฎาคม2531แต่ก็ระบุว่าวันเวลาใดไม่ปรากฎชัดจึงอาจเป็นวันที่19มกราคม2531เวลากลางวันดังที่ระบุไว้ในคำฟ้องคดีเดิมก็ได้และการกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิด2กรรมทั้งสองคดีดังกล่าวก็เป็นการร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าตราดอกทานตะวันของบริษัทผู้เสียหายรายเดียวกันซึ่งใช้กับสินค้าใบชากลิ่นมะลิเหมือนกันและร่วมกันจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายสินค้าใบชาที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมดังกล่าวเช่นเดียวกันทั้งปรากฎในคำฟ้องคดีเดิมว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเสนอจำหน่ายสินค้าดังกล่าวต่อร้านต่างๆทั่วไปในกรุงเทพมหานครซึ่งคำฟ้องคดีนี้โจทก์ก็ระบุว่าเกิดที่กรุงเทพมหานครเช่นเดียวกันดังนี้ความผิด2กรรมที่โจทก์ทั้งสองคดีฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดได้เกิดขึ้นในเวลาและสถานที่เดียวกันทั้งเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกันการกระทำของจำเลยทั้งสองในแต่ละกรรมทั้งสองคดีจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้ในแต่ละกรรมย่อมเป็นความผิดกรรมเดียวกันกันความผิด2กรรมที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีเดิมเมื่อฟังได้ความว่าคดีอาญาเดิมศาลแขวงดุสิตได้พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วดังนั้นเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วโจทก์จึงนำคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดที่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีก่อนมาฟ้องจำเลยทั้งสองนี้อีกหาได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา39(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 28กรกฎาคม 2531 วันเวลาใดไม่ปรากฎชัด จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าใบชากลิ่นมะลิตราดอกทานตะวันหมายเลข 1046 ของบริษัทไชน่า เนชั่นแนลเนทีป โปรดิวส์แอนด์แอนนิมอลบายโปรดักซ์อิมปอร์ตแอนด์เอ็กซ์ปอร์ต คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด มณฑลฟูเจี้ยนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีย ซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยร่วมกันปลอมทั้งเครื่องหมายการค้าตราดอกทานตะวันหมายเลข 1046 และลวงลายบนกล่องบรรจุกระดาษสีเหลืองแถบแดง แล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเป็นสินค้าที่มีชื่อรูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของผู้อื่น หรือทำให้ปรากฎที่สินค้าวัตถุที่ใช้หุ้มห่อให้แก่บุคคลทั่วไปห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้าและนายบุ้นจิ้ง แซ่ตั้ง เพื่อให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น และจำเลยทั้งสองได้กระทำโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ หรือคุณภาพแห่งสินค้านั้นอันเป็นเท็จ เหตุเกิดที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อยกรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2533 พนักงานสอบสวนได้ยึดใบชากลิ่นมะลิ จำนวน 1 กล่อง ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271, 273, 275, 91 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายบุ้นจิ้ง แซ่ตั้ง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าความผิดที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องคดีนี้กับที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลแขวงดุสิตและศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7950/2538 เป็นอย่างเดียวกันโจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้อีกไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 273 และ 275 ที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องต่อศาลชั้นต้นเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตและความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องเข้ามาด้วยก็เป็นการกระทำกรรมเดียวกันกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 เมื่อศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) พิพากษาพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2533พนักงานอัยการ กองคดีศาลแขวงดุสิตได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงดุสิตเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 17639/2533 กล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2531 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 และ 275 โดยตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าใบชากลิ่นมะลิตราดอกทานตะวันของบริษัทเดียวกันกับที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องคดีนี้และร่วมกันเสนอจำหน่ายสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าปลอมดังกล่าวแก่ร้านค้าต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไปศาลแขวงดุสิตพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน2538 ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7950/2538 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองในคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับการกระทำในคดีที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7950/2538 ของศาลแขวงดุสิต อันทำให้สิทธินำคดีนี้มาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิด 3 ข้อหา คือ จำเลยทั้งสองปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ ร่วมกันขายหรือจำหน่าย เสนอขายซึ่งสินค้าพิพาทที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม และขายของโดยหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ โดยจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน วันเวลาใดไม่ปรากฎชัด ส่วนในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7950/2538 ของศาลแขวงดุสิตพนักงานอัยการกองคดีศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยทั้งสองว่าปลอมเครื่องหมายการค้า และขาย เสนอขายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมแก่บุคคลทั่วไป เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2531 เวลากลางวัน ความผิดในคดีเดิมดังกล่าวกับคดีนี้เกิดต่างเวลาและต่างสถานที่ ลักษณะความความผิดแตกต่างกัน เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน จึงไม่ใช่ฟ้องเรื่องเดียวกันอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) ดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้นั้น เห็นว่าสำหรับความผิดฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าตราดอกทานตะวันที่ใช้กับสินค้าใบชากลิ่นมะลิและร่วมกันจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายสินค้าใบชาที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 273 และ 275 อันเป็นความผิดต่างกรรมกันนั้น คำฟ้องโจทก์คดีนี้ระบุว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดเมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 วันเวลาใดไม่ปรากฎชัด ส่วนในคำฟ้องคดีเดิมตามคดีหมายเลขแดงที่ 7950/2538 ของศาลแขวงดุสิต ระบุว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดทั้งสองกรรมดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 มกราคม2531 เห็นได้ว่า เวลากระทำผิดตามฟ้องคดีนี้กับคดีเดิมเป็นเวลาเดียวกัน เพราะแม้คำฟ้องนี้จะระบุว่าเวลากระทำผิดเป็นระหว่างวันที่1 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 แต่ก็ระบุว่าวันเวลาใดไม่ปรากฎชัด จึงอาจเป็นวันที่ 19 มกราคม 2531 เวลากลางวันดังที่ระบุไว้ในคำฟ้องคดีเดิมก็ได้ และการกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิด 2 กรรม ทั้งสองคดีดังกล่าวก็เป็นการร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าตราดอกทานตะวันของบริษัทผู้เสียหายรายเดียวกันซึ่งใช้กับสินค้าใบชากลิ่นมะลิเหมือนกัน และร่วมกันจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายสินค้าใบชาที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมดังกล่าวเช่นเดียวกัน ทั้งปรากฎในคำฟ้องคดีเดิมว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเสนอจำหน่ายสินค้าดังกล่าวต่อร้านต่าง ๆ ทั่วไปในกรุงเทพมหานครซึ่งคำฟ้องคดีนี้โจทก์ก็ระบุว่าเกิดที่กรุงเทพมหานครเช่นเดียวกันดังนี้ ความผิด 2 กรรม ที่โจทก์ทั้งสองคดีฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดได้เกิดขึ้นในเวลาและสถานที่เดียวกัน ทั้งเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองในแต่ละกรรมทั้งสองคดีจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้ในแต่ละกรรมย่อมเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิด 2 กรรม ที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีเดิม และเมื่อฟังได้ความว่า คดีอาญาเดิมดังกล่าวศาลแขวงดุสิตได้พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่โจทก์และบริษัทเล่งหงษ์ อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต (1975) จำกัด โจทก์ร่วมนำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าตราดอกทานตะวันของบริษัทเดียวกันกับที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องคดีนี้และร่วมกันเสนอจำหน่ายสินค้าใบชากลิ่นมะลิตราดอกทานตะวัน โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ดังนั้น เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงนำคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดที่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีก่อนมาฟ้องจำเลยทั้งสองนี้อีกหาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) สำหรับความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ที่โจทก์กล่าวหาคดีนี้นั้นโจทก์และโจทก์ร่วมได้นำสืบพยานโดยมีโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายมาเบิกผู้เสียหายมาเบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2531 เวลา 13 นาฬิกา โจทก์ร่วมได้ซื้อสินค้าใบชากลิ่นมะลิตราดอกทานตะวันจากห้างสรรพาสินค้าพาต้าปิ่นเกล้าจำนวน 1 กล่อง หลังจากเดินทางกลับมาบ้าน โจทก์ร่วมได้นำใบชาที่ซื้อมาดังกล่าวมาชงดื่ม ปรากฎว่ามีรสฝาก ไม่หอม และไม่ชุ่มคอ ซึ่งผิดจากที่เคยซื้อมาชงดื่มครั้งก่อน ๆ ซึ่งมีรสหอม ชุ่มคอ และอร่อย ต่อมาโจทก์ร่วมได้นำใบชาที่ซื้อมาจากห้างสรรพสินค้าพาต้าดังกล่าวไปต่อว่าบริษัทเล่งหงษ์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต (1975) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายว่าเหตุใดใบชาของบริษัทจึงมีรสชาติ ไม่เหมือนกันพนักงานของบริษัทได้ตรวจดูแล้วแจ้งว่าใบชาดังกล่าวมิใช่ของทางบริษัทหลังจากนั้นประมาณ 2 ถึง 3 วัน โจทก์ร่วมจึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเห็นว่า จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมดังกล่าวไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้ขายสินค้าพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมโดยหลอกลวงอย่างไรบ้างหากแต่โจทก์ร่วมไปซื้อสินค้าพิพาทจากบุคคลอื่นที่วางขายในห้างสรรพาสินค้าเอง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าว ดังนั้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าข้อหานี้เป็นฟ้องซ้ำกับข้อหาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7950/2538 ของศาลแขวงดุสิตหรือไม่ เพราะแม้จะวินิจฉัยให้ ผลแห่งคดีก็ไม่เปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share