คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4503/2530

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญอันเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 8 ทวิ, 72 ทวิ ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 340, 340 ตรี ริบของกลาง และให้จำเลยคืนเงินสดจำนวน 130 บาท ใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนรถจักรยานยนต์หรือใช้เงินจำนวน 130 บาท แก่เจ้าของจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคแรก ให้จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางให้ริบ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 357 ให้จำคุกคนละ 15 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยรับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดฐานรับของโจรก็ตามแต่การกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และกระทำการอันมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์ จึงไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญอันเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 15 ปี แล้วจึงลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น เป็นการวางโทษเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการไม่ชอบ”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 6 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share