คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 450/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจะปรับบทลงโทษผู้กระทำการตามวรรคหนึ่งของมาตรา 119 พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 อันเป็นบทหนัก ต้องปรากฏว่าผู้กระทำได้ขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาโดยรู้ว่าเป็นยาปลอม ตามฟ้องมิได้กล่าวว่าจำเลยได้กระทำโดยรู้ว่าเป็นยาปลอม และจำเลยก็ไม่ได้ให้การรับว่าได้รู้ว่าของกลางเป็นยาปลอมแต่แรก เพิ่งรู้เมื่อได้พิสูจน์แล้ว จะถือว่าจำเลยได้กระทำโดยรู้ว่าเป็นยาปลอมหาได้ไม่ จึงลงโทษจำเลยตามวรรคหนึ่งไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ณ สถานที่ขายยาชื่อร้านเต็กอันตึ๊ง ได้บังอาจมียาไดไฮโดรเสตปโตไมซินซัลเฟต แต่แจ้งในฉลากยาที่กล่องและที่ขวดว่าเป็นยาคานาไมซินซัลเฟท อันเป็นยาที่แสดงชื่อยาอื่นซึ่งมิใช่ความจริง และเป็นยาและวัตถุที่ทำเทียมทั้งหมดว่าเป็นยาแท้ อันเป็นยาปลอมตามกฎหมาย จ่ายแจกและแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ในการค้า อันเป็นการขายยาปลอมฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๗๒, ๗๓, ๑๑๙ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพไม่ขอต่อสู้คดี และว่าจำเลยมียาตามฟ้องไม่เพื่อจำหน่าย โดยซื้อจากตัวแทนขายส่ง ต่อมาจำเลยถูกจับโดยได้พิสูจน์แล้วว่าได้ใช้ฉลากยาที่กล่องและที่ขวดว่าเป็นยาคานาไมซินซัลเฟท เมื่อทราบข้อหาดังกล่าวแล้ว จำเลยรู้สึกสำนึกในความผิดนี้เป็นอย่างมาก ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๗๒, ๗๓, ๑๑๙ ให้ลงโทษตามมาตรา ๗๒, ๑๑๙ วรรคสอง ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ลดให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้วปรับ ๕๐๐ บาท บังคับค่าปรับตามมาตรา ๒๙, ๓๐ ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๑๙ วรรคแรก
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๑๙ บัญญัติว่า “ผู้ใดขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาปลอม อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๗๒ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
ถ้าผู้กระทำตามวรรคหนึ่ง กระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงห้าพันบาท” ตามบทมาตราดังกล่าว การจะปรับบทลงโทษผู้กระทำการตามวรรคหนึ่งอันเป็นบทหนัก ต้องปรากฏว่าผู้กระทำได้ขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาโดยรู้ว่าเป็นยาปลอม แต่ตามฟ้องมิได้กล่าวว่าจำเลยได้กระทำโดยรู้ว่าเป็นยาปลอม และจำเลยก็ไม่ได้ให้การรับว่าได้รู้ว่าของกลางเป็นยาปลอมแต่แรก จำเลยเพิ่งรู้ว่าเป็นยาปลอมภายหลังเมื่อได้พิสูจน์แล้ว ดังนี้ จะถือว่าจำเลยได้กระทำโดยรู้ว่าเป็นยาปลอมหาได้ไม่ จึงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๑๙ วรรคหนึ่ง ไม่ได้
พิพากษายืน

Share