คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จนั้น คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกและออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติเพื่อบริหารประเทศชาติต่อไปได้มิฉะนั้นประเทศชาติจะตั้งอยู่ด้วยความสงบไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์ การแต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นรัฐมนตรีในตอนนั้น ก็ย่อมเป็นการชอบด้วย
คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่สั่งให้ปลดปลัดกระทรวงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2485 มาตรา 61 และอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.กำหนดวิธีการพิจารณาลงโทษข้าราชการผู้กระทำผิดหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ พ.ศ.2490 นั้น เป็นคำสั่งที่ออกมาในทางราชการโดยอำนาจและหน้าที่ในตำแหน่งราชการด้วย การใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยตามบทกฎหมายที่ให้อำนาจ เมื่อฟังได้ว่า เป็นการกระทำโดยสุจริตในอำนาจและหน้าที่ ทั้งมิได้มุ่งที่จะให้เกิดเสียหายแก่ผู้ใด ดังนี้ แม้จะวินิจฉัยผิดพลาด ก็หาเป็นละเมิดไม่

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ เป็นรัฐมนตรีว่าการได้สั่งปลดโจทก์ ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังออกจากราชการตามคำสั่งที่ ๔๗๒/๒๔๙๐. โดยไม่มีบำเหน็จบำนาญ ทั้งที่โดยจำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะปลดโจทก์ออกจากราชการได้ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งใช้อยู่ในขณะนี้ที่จำเลยที่ ๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ไม่มีทางที่จะถือว่าเป็นกฎหมายได้ ดังนั้นการเข้าเป็นรัฐมนตรีของจำเลยที่ ๒ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติการสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการโดยละเมิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดวิธีพิจารณาลงโทษข้าราชการและพนักงานเทศบาล ผู้กระทำผิดหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ พ.ศ.๒๔๙๐ กล่าวคือ จำเลยปลดโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าได้มีการกระทำผิดหน้าที่หรือหย่อนความสามารถตามมาตรา ๔ และจำเลยสั่งปลดโจทก์โดยไม่มีการสอบสวนตามมาตรา ๖ – ๑๐ คำสั่งของกระทรงการคลังที่ ๔๗๒/๒๔๙๐ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จึงขอให้ศาลสั่งว่า คำสั่งของกระทรวงการคลังที่ ๔๗๒/๒๔๙๐ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รวมเป็นเงิน ๑๔๙,๒๔๙ บาท ๔๐ สตางค์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ได้ความว่าใน พ.ศ.๒๔๙๐ คณะรัฐประหารได้มีอำนาจการปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิก และออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติ เพื่อบริหารประเทศชาติต่อไปได้ มิฉะนั้นประเทศชาติอาจจะตั้งอยู่ด้วยความสงบไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๔๙๐ จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์ จำเลยที่ ๒ จึงเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยชอบ
ที่โจทก์กล่าวว่า จำเลยสั่งปลดโจทก์ โดยไม่สอบสวน ไม่ไต่สวน เป็นการละเมิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดวิธีการพิจารณาลงโทษข้าราชการ ฯลฯ พ.ศ.๒๔๙๐ นั้น ก็เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นรัฐมนตรีโดยชอบแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกำหนดวิธีพิจารณาลงโทษข้าราชการ ฯลฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งเป็นกฎหมายมอบอำนาจให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่พิจารณาลงโทษผู้น้อยได้ตามควรแก่เหตุการณ์ ดั่งซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินั้นแล้ว จำเลยที่ ๒ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจที่จะพิจารณาลงโทษข้าราชการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งโจทก์ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง
คำสั่งที่ ๔๗๒/๒๔๙๐ มีข้อความสำคัญถือได้ว่า จำเลยปฏิบัติราชการโดยประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงผิดตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๖๑ และอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิธีพิจารณาลงโทษข้าราชการและพนักงานเทศบาลผู้กระทำผิดหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ พ.ศ.๒๔๙๐ จึงสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการได้
คำสั่งฉบับนี้เป็นคำสั่งที่ออกมาในทางราชการ โดยอำนาจและหน้าที่ในตำแหน่งราชการ มิใช่เป็นการส่วนตัว จะเห็นได้ว่าเป็นคำสั่งที่จำเลยที่ ๒ ใช้ดุลยพินิจพิจารณาเหตุการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติในหน้าที่ราชการแล้ว ปรับเข้ากับบทกฎหมายโดยเอาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายพลเรือนเป็นบทชี้ความผิดและยกเอาพระราชบัญญัติกำหนดวิธีพิจารณาลงโทษเป็นบทกำหนดโทษ การกระทำดังนี้เป็นการสั่งราชการหรือปฏิบัติราชการด้วยการใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยตามบทกฎหมายที่ให้อำนาจ เมื่อฟังได้ว่าจำเลยได้ออกคำสั่งโดยสุจริตชอบด้วยอำนาจและหน้าที่ทั้งไม่มีเหตุที่จะให้เห็นว่าจำเลยมุ่งจะให้เกิดการเสียหายแก่โจทก์ ดังนี้ แม้จำเลยจะวินิจฉัยผิดพลาด ก็หาเป็นละเมิดไม่
จึงพิพากษายืน

Share