แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 119 วรรคสอง กำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดฐานขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาปลอมโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมไว้ให้ปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงห้าพันบาท ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องคดีและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) แต่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดนี้ล่วงเลยกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์ในข้อหานี้จึงขาดอายุความ
ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ร่วมและพนักงานของโจทก์ร่วมเบิกความตรงกันว่า เหตุที่พยานทั้งสองทราบว่าสินค้ายาของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมก็โดยการตรวจสอบเปรียบเทียบกับสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าจริง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันอยู่ 4 ประการ ซึ่งเมื่อพิจารณากล่องบรรจุสินค้า ฉลาก และขวดยาของสินค้ายาของปลอมและที่แท้จริงเปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่าคล้ายกันมาก ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ทราบว่ายาของปลอมมีลักษณะอย่างไรก็เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมเป็นคนชี้ส่วนสำคัญให้ดู ทั้งเภสัชกรและผู้ตรวจวิเคราะห์ยาของกลางก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า หากเห็นแต่ยาของกลางเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นยาที่แท้จริงหรือยาปลอม และพนักงานสอบสวนก็ไม่สามารถระบุว่ายาใดเป็นยาปลอมหรือยาที่แท้จริงเพราะไม่ทราบรายละเอียดของตัวยาที่ผสมอยู่ แสดงว่าสินค้ายาคาโตซาลที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของกลางคล้ายกับสินค้าที่แท้จริงมาก ถ้าไม่ทราบถึงรายละเอียดข้อแตกต่างมาก่อนก็เป็นการยากที่จะสังเกตได้เอง ดังนี้แม้จำเลยจะเป็นสัตวแพทย์และเป็นผู้มีสินค้าของกลางไว้เพื่อจำหน่ายก็ไม่แน่ว่าจะได้สังเกตว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110, 115, 117 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 4, 72 (1), 73 (4), 76, 119, 126 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ไบเออร์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต (ที่ถูก อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534)
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาปลอมโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 119 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 119 วรรคสอง กำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดฐานขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาปลอมโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมไว้ให้ปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงห้าพันบาท ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องคดีและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาปลอม จำนวน 2 ขวด เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549 โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดนี้ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2550 แต่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ซึ่งล่วงเลยกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์ในข้อหานี้จึงขาดอายุความ ปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องหรือไม่นี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในราชอาณาจักรโดยชอบตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไว้ในราชอาณาจักรโดยชอบแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นโรงพยาบาลบ้านรักสัตว์ของจำเลยพบยาที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของโจทก์ร่วม จำนวน 14 ขวด จึงยึดไว้เป็นของกลาง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า จำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร และขายหรือนำ หรือส่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาปลอม จำเลยให้การปฏิเสธ มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยรู้ว่าสินค้ายาคาโตซาลของกลางที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือไม่ เห็นว่า นายพีรพล ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ร่วม และนายสินธร พนักงานของโจทก์ร่วม เบิกความตรงกันว่า เหตุที่พยานทั้งสองทราบว่าสินค้ายาของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของโจทก์ร่วมก็โดยการตรวจสอบเปรียบเทียบสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมกับสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าจริง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันอยู่ 4 ประการ คือ 1. เครื่องหมายการค้าคำว่า CATOSAL ในสินค้าของปลอมจะมีขนาดเล็กและคมชัดน้อยกว่าสินค้าที่แท้จริง 2. รูปเป็ดที่ปรากฏบนกล่องบรรจุสินค้าและฉลากยาของปลอมจะมีคอยาวกว่ารูปเป็ดที่ปรากฏบนกล่องบรรจุสินค้าและฉลากยาที่แท้จริง 3. คำว่า FLIP และ OFF ที่ปรากฏบนฝาปิดขวดยาของปลอมจะมีขนาดเล็กกว่าที่ปรากฏบนฝาปิดขวดยาที่แท้จริง และ 4. ใต้ขวดยาของปลอมจะมีอักษรโรมันปรากฏอยู่เพียง 1 แถว ในขณะที่ใต้ขวดยาสินค้าที่แท้จริงจะมีอักษรโรมันปรากฏอยู่ 3 แถว ซึ่งเมื่อพิจารณากล่องบรรจุสินค้า ฉลาก และขวดยาของสินค้ายาของปลอมและที่แท้จริงเปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่าคล้ายกันมาก ซึ่งผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ร่วมก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า เหตุที่พยานทราบว่ายาของปลอมมีลักษณะอย่างไรก็เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมเป็นคนชี้ส่วนสำคัญให้พยานดู ซึ่งมีจุดสังเกตได้โดยง่ายคือลักษณะของคอเป็ด ในจุดนี้นายสินธรซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า โจทก์ร่วมแจ้งให้ลูกค้าของโจทก์ร่วมทราบเรื่องการใช้ลักษณะคอเป็นจุดสังเกตว่าสินค้ายาเป็นของปลอมหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านวารสารสุกร วารสารโคนม และโปสเตอร์ แต่จะได้แจ้งให้โรงพยาบาลบ้านรักสัตว์ของจำเลยทราบหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ เนื่องจากโรงพยาบาลบ้านรักสัตว์และจำเลยไม่ใช่ลูกค้าของโจทก์ร่วม ทั้งนางสาววลัยลักษณ์ซึ่งเป็นเภสัชกรและผู้ตรวจวิเคราะห์ยาของกลางก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า หากเห็นยาของกลางเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นยาที่แท้จริงหรือยาปลอม และพันตำรวจโทกิตติชนม์ พนักงานสอบสวน ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานไม่สามารถระบุได้ว่ายาใดเป็นยาปลอมหรือยาที่แท้จริงเพราะไม่ทราบรายละเอียดของตัวยาที่ผสมอยู่ แสดงว่าสินค้ายาที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของกลางคล้ายกับสินค้าที่แท้จริงมาก ถ้าไม่ทราบถึงรายละเอียดข้อแตกต่างมาก่อนก็เป็นการยากที่จะสังเกตได้เอง ดังนี้แม้จำเลยจะเป็นสัตวแพทย์และเป็นผู้มีสินค้าของกลางไว้เพื่อจำหน่ายก็ไม่แน่ว่าจะได้สังเกตว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ส่วนราคาสินค้าของกลางที่จำเลยซื้อมาจากหลายแหล่งในราคาตั้งแต่ 220 ถึง 240 บาท แล้วขายในราคาตั้งแต่ 225 ถึง 240 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้าของแท้ที่นายสินธรซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมเบิกความว่า ในช่วงเกิดเหตุ โจทก์ร่วมขายสินค้าที่แท้จริงในราคาประมาณ 276 บาท และอาจขายในราคาต่ำสุดถึง 235 บาท ในกรณีที่มีการให้ส่วนลดเนื่องจากเป็นการซื้อจำนวนมากแล้ว เห็นได้ว่าไม่แตกต่างกันมากจนเป็นที่ผิดสังเกต แม้ว่าบนกล่องบรรจุสินค้าจะระบุราคาขายไว้ถึง 570 บาท ก็ตาม และแม้ระบบการขายสินค้าของโจทก์ร่วมจะเป็นระบบซื้อขายโดยตรงระหว่างโจทก์ร่วมกับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือโรงพยาบาลรักษาสัตว์ หรือคลินิกรักษาสัตว์ หรือโรงงานอาหารสัตว์ หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ติดต่อกับผู้เลี้ยงโดยตรง ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเลี้ยงและรักษาสัตว์ต้องซื้อสินค้าจากโจทก์ร่วมเท่านั้น ดังนี้ ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์อ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นสัตวแพทย์และเป็นเจ้าของโรงพยาบาลบ้านรักสัตว์ย่อมจะทราบถึงช่องทางและระบบการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมนั้นก็เป็นการคาดคะเนของโจทก์ร่วมเอง แม้จำเลยซึ่งเป็นสัตวแพทย์พึงใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบและคัดเลือกแหล่งจำหน่ายยาที่ใช้และจำหน่ายต่อไปโดยการเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและมีการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าที่จำหน่ายอย่างรัดกุมแต่กลับละเลยที่จะดำเนินการดังกล่าวโดยเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ในการเลี้ยงและรักษาสัตว์อันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นและน่าตำหนิ ก็จะถือเป็นข้อพิรุธถึงขนาดบ่งชี้ว่าจำเลยทราบดีว่ายาของกลางมีเครื่องหมายการค้าปลอมหาได้ไม่ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าพนักงานของโจทก์ร่วมเคยติดต่อขายสินค้าของโจทก์ร่วมในราคาปกติทั่วไปแก่จำเลย หรือจำเลยเคยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ร่วมหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมที่คุ้นเคยกับลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมาก่อนแล้ว พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยรู้ว่าสินค้ายาของกลางที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน