แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และท้ายอุทธรณ์มีข้อความว่า รอฟังคำสั่งอยู่ แต่ไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยในวันเดียวกันกับที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้น จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 แต่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2548 เกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย โดยเห็นว่าจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่ง คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ให้เป็นที่สุดนั้น ไม่จำต้องคำนึงว่าในการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีวินิจฉัยเฉพาะเนื้อหาอุทธรณ์เท่านั้น เพราะการที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์อาจมาจากสาเหตุอื่น โดยไม่ต้องวินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์ว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงเป็นอันถังที่สุดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งฎีกาคำสั่งของจำเลยมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 32,804 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่และขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า จำเลยมิได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 จึงพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยฎีกาคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำแถลง
จำเลยอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญญาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งพ้นกำหนดระยะ 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และท้ายอุทธรณ์มีข้อความว่า รอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยในวันเดียวกันกับที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ถือได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้น จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 แต่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2548 เกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย โดยเห็นว่าจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่ง คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ให้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 236 วรรคหนึ่งนั้น ไม่จำต้องคำนึงว่าในการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีวินิจฉัยเฉพาะเนื้อหาอุทธรณ์เท่านั้น เพราะการที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์อาจมาจากสาเหตุอื่น โดยไม่ต้องวินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์ว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งฎีกาคำสั่งของจำเลยมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย