คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4490/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินเดิมให้ก่อสร้างรั้วพิพาทรุกล้ำเข้าไปในที่ดินได้และการกระทำของจำเลยไม่อาจถือว่าเป็นการทำละเมิดแต่เมื่อเจ้าของเดิมได้ขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นต่อไป จนในที่สุดที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ความยินยอมดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันโจทก์ให้ต้องยอมรับสิทธิของจำเลยต่อไป เพราะโจทก์ทั้งสองก็ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ที่จะขัดขวางมิให้จำเลยหรือบุคคลอื่นสอดเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้รั้วพิพาทอยู่ในที่ดินของตนอีกต่อไปและได้แจ้งให้จำเลยจัดการรื้อถอนแล้วแต่แทนที่จำเลยจะรื้อรั้วพิพาทออกไปเสียทั้งหมดกลับเหลือทิ้งไว้ในที่ดินของโจทก์บางส่วนการกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ การไม่รื้อถอนรั้วพิพาทให้หมดสิ้นย่อมทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้สอยประโยชน์ในที่ดินส่วนนั้นได้ซึ่งแม้ว่าจะมีเนื้อที่เพียงเล็กน้อยโจทก์ก็ได้รับความเสียหายซึ่งอาจเปรียบเทียบค่าเสียหายสำหรับที่ดินส่วนดังกล่าวจากที่ดินในบริเวณใกล้เคียงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนเสาคอนกรีตบางส่วน คานคอดิน ตอม่อและเสาเข็มของรั้วกำแพงออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 185697 แขวงอนุสาวรีย์เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ห้ามจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวอีกต่อไปและให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนเสาคอนกรีตบางส่วน คานคอดิน ตอม่อ และเสาเข็มของรั้วกำแพงออกไปจากที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนเสาคอนกรีตบางส่วน คานคอดินต่อม่อ และเสาเข็มของรั้วกำแพงออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 185697 แขวงอนุสาวรีย์เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 100 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนเสาคอนกรีตบางส่วน คานคอดิน ตอม่อ และเสาเข็มของรั้วกำแพงออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสองซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยเป็นกรรมสิทธิ์ของนางจำเนียร กสิพันธ์และนางจำเนียรยินยอมให้จำเลยก่อสร้างรั้วกำแพงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของตนทางด้านทิศเหนือต่อมานางจำเนียรขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสาวสุรินทร์ นุ้ยประสิทธิ์และนางสาวสุรินทร์ปลูกสร้างทาวน์เฮาส์แล้วขายที่ดินพร้อมทั้งทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ทั้งสองหลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองได้แจ้งให้จำเลยรื้อกำแพงที่รุกล้ำออกไปจำเลยก็ได้รื้อรั้วกำแพงออกบางส่วนแต่ยังคงเหลือเสาคอนกรีต คานคอดิน ตอม่อและเสาเข็มของรั้วกำแพงอยู่ในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่จำเลยไม่รื้อถอนเสาคอนกรีต คานคอดินตอม่อ และเสาเข็มของรั้วกำแพงออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะได้รับความยินยอมจากนางจำเนียรเจ้าของเดิมให้ก่อสร้างรั้วพิพาทรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 185697 แขวงอนุสาวรีย์เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และการกระทำของจำเลยไม่อาจถือว่าเป็นการกระทำละเมิดก็ตาม แต่เมื่อนางจำเนียรได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นต่อไป จนในที่สุดที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองแล้วความยินยอมดังกล่าวนั้นย่อมไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองให้ต้องยอมรับสิทธิของจำเลยต่อไปเพราะโจทก์ทั้งสองก็ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336ที่จะขัดขวางมิให้จำเลยหรือบุคคลอื่นสอดเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะให้รั้วพิพาทอยู่ในที่ดินของตนอีกต่อไป และได้แจ้งให้จำเลยจัดการรื้อถอนแล้ว แต่แทนที่จำเลยจะรื้อรั้วพิพาทออกไปเสียทั้งหมดกลับเหลือทิ้งไว้ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองอีกบางส่วน เช่นนี้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยยินยอมให้นางสาวสุรินทร์ปลูกสร้างทาวน์เฮาส์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองจนชิดแนวเขตที่ดินของจำเลยนั้นก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับนางสาวสุรินทร์โดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งสองแต่ประการใด จำเลยจึงไม่อาจยกมาเป็นข้ออ้างยันโจทก์ทั้งสองได้
ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใด ในปัญหาดังกล่าวนี้จำเลยฎีกาว่า โจทก์สืบไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเสียหายอย่างไร เพราะที่ดินที่มีการละเมิดมีเนื้อที่เล็กน้อยไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า การที่จำเลยไม่รื้อถอนรั้วพิพาทออกไปให้หมดสิ้น หากแต่ยังคงปล่อยให้เสาคอนกรีต คานคอดิน ตอม่อ และเสาเข็มของรั้วกำแพงทิ้งไว้ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองนั้น ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้สอยประโยชน์ในที่ดินส่วนั้นได้ ซึ่งแม้ว่าจะมีเนื้อที่เพียงเล็กน้อยก็ตาม โจทก์ทั้งสองก็ได้รับความเสียหายและในส่วนของความเสียหายนี้ โจทก์ทั้งสองมีนายบุญส่ง ลิ่มหุ่น เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกันนั้น เนื้อที่ 50 ตารางวา ให้เช่าทำอู่ซ่อมรถได้ค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท และที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกละเมิดมีเนื้อที่ประมาณ 1.50 ตารางวา ดังนี้จึงอาจเปรียบเทียบเพื่อหาค่าเสียหายสำหรับที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสองได้ ไม่ใช่ว่าโจทก์ทั้งสองสืบไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเสียหายอย่างไร และจำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เดือนละ 100 บาท นั้น จึงเหมาะสมแล้ว”
พิพากษายืน

Share