คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7819/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบได้ ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 85 เมื่อโจทก์ได้ยื่นพยานหลักฐานถูกต้องตามข้อกำหนดภาษีอากรในชั้นพิจารณาแล้ว ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่นำสืบในชั้นศาลโดยไม่ผ่านขั้นตอนของการตรวจสอบการประเมินและการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบการวินิจฉัยคดีได้
โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้า (ปัจจุบันภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากเจ้าพนักงานประเมิน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 และ 2529ปรากฏว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีทั้งเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าแสดงยอดรายรับไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วนและมีรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ทวิ(2) และ65 ตรี(3) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ โจทก์บันทึกบัญชีมียอดขายไม่ลงบัญชีและยอดรายรับขาดบัญชีเป็นจำนวนไม่น้อยโดยที่มีพยานหลักฐานตรวจสอบได้แน่ชัด อันเป็นพฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับให้โจทก์ คงเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 50ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว ไม่มีเหตุอันควรที่จะลดเบี้ยปรับให้ได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์ไม่ต้องเสียภาษี และเงินเพิ่มตามคำฟ้องทั้งหมด และให้งดเบี้ยปรับทั้งหมด ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าทั้งหมด

จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้อง โดยให้ปรับปรุงการคำนวณภาษี พร้อมเบี้ยปรับร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย และเงินเพิ่ม สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์รอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 คำนวณจากกำไรสุทธิ 3,927,070.62 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 คำนวณจากกำไรสุทธิ 2,524,179.06 บาท สำหรับภาษีการค้าของโจทก์ เดือนพฤศจิกายน 2528 คำนวณจากรายรับ 1,400,000 บาท และเดือนตุลาคม2529 คำนวณจากรายรับ 804,885 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตตู้เหล็กเก็บเอกสาร เครื่องเรือนสำนักงานเพื่อจำหน่ายและให้เช่าทรัพย์ เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินได้มีหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 และ 2529 ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากรเพิ่มเติมถึงโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมิน จึงได้อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้วแต่มีเหตุที่จะลดเบี้ยปรับให้ในอัตราร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย…

ที่จำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับรายการประเมินลำดับที่ 45 รายรับจากองค์การ ร.ส.พ.จำนวน 844,099 บาทนั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.3 หน้า 93 และ ล.3 แผ่นที่ 101มีเลขใบสำคัญตรงกับหลักฐานขององค์การ ร.ส.พ. เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 43 และล.3 แผ่นที่ 73 ถึง 76 ถือว่าถูกต้องและโจทก์ลงบัญชีแล้วจึงฟังได้ว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ชอบ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์นำหลักฐานเอกสารหมาย จ.3 มาแสดงในชั้นศาลโดยไม่ผ่านขั้นตอนของการตรวจสอบการประเมินและการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ควรรับฟังนั้น เห็นว่า ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติสิทธิเช่นที่จำเลยว่า และในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้นคู่ความย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบได้ ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 85 เมื่อโจทก์ได้ยื่นพยานหลักฐานดังกล่าวถูกต้องตามข้อกำหนดภาษีอากรในชั้นพิจารณาแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบการวินิจฉัยคดีได้…

ปัญหาสุดท้ายที่โจทก์อุทธรณ์ว่า มีเหตุควรลดเบี้ยปรับหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่ากรณีนี้โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าจากพนักงานประเมินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 และ 2529 ปรากฏว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีทั้งเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าแสดงยอดรายรับไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วนและมีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ (2) และ 65 ตรี (3) (9) แห่งประมวลรัษฎากรกล่าวคือ โจทก์บันทึกบัญชีมียอดขายไม่ลงบัญชีและยอดรายรับขาดบัญชีเป็นจำนวนไม่น้อย โดยที่มีพยานหลักฐานตรวจสอบได้แน่ชัด อันเป็นพฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับให้โจทก์คงเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้วจึงไม่มีเหตุอันควรที่จะลดเบี้ยปรับให้โจทก์อีกคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share