แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์เคยเบิกความรับว่าภาพถ่ายลายมือชื่อของโจทก์ในเอกสารหมาย ล.3 เป็นลายเซ็นของโจทก์จริง แสดงว่า โจทก์มิได้ปฏิเสธความถูกต้องของภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวจึงเท่ากับโจทก์ยอมรับว่า เป็นสำเนาเอกสารที่ถูกต้องแล้วศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองปลอมลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ในหนังสือมอบอำนาจให้ขายที่ดินของโจทก์ที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2จึงขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายดังกล่าว จำเลยทั้งสองให้การว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 จริงขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สำหรับข้อที่โจทก์ที่ 1ฎีกาเอกสารหมาย ล.3 เป็นภาพถ่ายเอกสารซึ่งถ่ายจากต้นฉบับไม่ใช่ต้นฉบับของเอกสาร จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1เคยเบิกความรับว่าภาพถ่ายลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ในเอกสารหมาย ล.3 เป็นลายเซ็นของโจทก์ที่ 1 จริง แสดงว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ปฏิเสธความถูกต้องของภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.3 จึงเท่ากับโจทก์ที่ 1 ยอมรับว่าภาพถ่ายตามเอกสารหมาย ล.3 เป็นสำเนาเอกสารที่ถูกต้องแล้ว ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(1) ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้วจึงให้ศาลยอมรับฟังสำเนาเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารนั้นได้ ฎีกาโจทก์ที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง โจทก์ที่ 1 นั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน