แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยซึ่งเป็นภริยาโจทก์ได้รับมรดกคือที่ดินพิพาทเมื่อปี 2509 ขณะที่มีการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม การพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประเภทใดต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มา คือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมมาตรา 1466 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส นอกจากที่ระบุไว้ว่าเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวตามมาตรา 1463หรือ 1464 เมื่อจำเลยได้รับที่ดินพิพาททางพินัยกรรมในระหว่างสมรสและไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ต่อมาจะมีการแบ่งแยกและออกโฉนดใหม่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใหม่ใช้บังคับแล้ว ก็ไม่ทำให้เปลี่ยนสินส่วนตัว โจทก์จึงมีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยาและจดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2497 โดยขณะสมรสทั้งสองฝ่ายไม่มีสินเดิม อยู่กินด้วยกันจนมีบุตร 7 คน และรับบุตรบุญธรรมอีก 2 คน ในระหว่างสมรสคือเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2510 จำเลยได้รับทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1433 ตำบลทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานครกึ่งหนึ่งของเนื้อที่ 26 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา โดยจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับเจ้าของเดิมต่อมาที่ดินถูกเวนคืนบางส่วนคงเหลือเป็นของจำเลย 9 ไร่ 1 งาน43 ตารางวา ครั้นวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 จำเลยได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวและออกโฉนดใหม่แยกจากโฉนดเดิมเป็นโฉนดเลขที่ 3719 ตำบลทรายที่ดินอำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร และวันที่ 30 ธันวาคม 2530โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บุตร 5 คนคนละ 400 ส่วน ใน 3743 ส่วน คงเหลือที่ดิน 4 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา โจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาตั้งแต่ปี 2525 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปีแล้ว โจทก์ขอหย่าขาดจากจำเลยและขอแบ่งสินสมรส แต่จำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน และให้แบ่งสินสมรสคือที่ดินโฉนดเลขที่ 3719 ตำบลทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี (เมือง)กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนที่เป็นของจำเลยให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง เป็นเนื้อที่ 2 ไร่71.5 ตารางวา โดยให้โจทก์และจำเลยประมูลกันเอง หากตกลงราคาประมูลกันไม่ได้ให้ยึดที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นชื่อของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งให้แก่โจทก์และจำเลยคนละกึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า จำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยาและจดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2497 แต่เมื่อประมาณปี 2500 โจทก์กับจำเลยได้แยกอยู่เนื่องจากจำเลยไม่สามารถทนความประพฤติของโจทก์ เพราะโจทก์ดื่มสุรา เล่นการพนันและเจ้าชู้ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2509 นางวอน เปลี่ยนสียายจำเลยได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินตามคำฟ้องให้แก่จำเลยเพียงผู้เดียวโดยไม่ได้ยกให้เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นสินสมรส โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อปี 2497 ตามทะเบียนการสมรสเอกสารหมาย จ.2 นางวอน เปลี่ยนสี ซึ่งเป็นยายของจำเลยได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2509 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยหรือไม่ โจทก์นำสืบว่านางวอนทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลยในระหว่างที่โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายตามสำเนาภาพถ่ายพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.4 ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรสส่วนจำเลยนำสืบว่า นางวอนทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลยเพียงผู้เดียวโดยระบุว่าให้เป็นสินส่วนตัว เหตุที่นางวอนไม่ทำพินัยกรรมยกให้เป็นสินสมรสเพราะโจทก์ประพฤติตัวไม่ดี ไม่ได้รับผิดชอบครอบครัวโดยมีนายบุญรอด บุญยะมานางกาญจนา สุดปัญญา และนางปาริชาติ รุ่งเรือง เบิกความสนับสนุน แต่นายบุญรอดเป็นญาติของจำเลย นางกาญจนา และนางปาริชาติเป็นบุตรจำเลยแม้นางกาญจนาเป็นบุตรโจทก์ด้วย แต่นางกาญจนาก็อาศัยอยู่กับจำเลยพยานจำเลยดังกล่าวย่อมเบิกความเป็นประโยชน์แก่จำเลย ทั้งจำเลยไม่มีพินัยกรรมที่อ้างว่านางวอนทำพินัยกรรมระบุว่าให้เป็นสินส่วนตัวมาแสดงต่อศาลพยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่านางวอนได้ทำพินัยกรรมระบุไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัว อีกทั้งโจทก์จำเลยนำสืบว่า นางวอนได้ทำพินัยกรรมเมื่อวันที่ 26เมษายน 2509 และจำเลยเบิกความว่างนางวอนได้ถึงแก่ความตายในปีเดียวกับที่ทำพินัยกรรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาขณะที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม การพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประเภทใดต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มาซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1466 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสนอกจากที่ระบุไว้ว่าเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวตามมาตรา 1463 หรือ 1464และมาตรา 1464 สินส่วนตัวได้แก่ (3) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างเป็นสามีภริยาโดยทางพินัยกรรม หรือยกให้โดยเสน่หา เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้นได้แสดงไว้เป็นสินส่วนตัว ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับที่ดินพิพาทโดยทางพินัยกรรมในระหว่างสมรสและไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1466 วรรคหนึ่งแม้ต่อมาจะได้มีการแบ่งแยกที่ดินและออกโฉนดใหม่จากโฉนดเดิมเป็นโฉนดเลขที่ 3719 เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้วก็เป็นเรื่องการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมไม่ทำให้ที่ดินพิพาทหลังจากแบ่งแยกโฉนดแล้วเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1471(3) โดยยังคงถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยอยู่นั่นเองโจทก์จึงมีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรสนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 3719 ตำบลทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนที่เป็นของจำเลยให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 71.5 ตารางวา โดยให้โจทก์จำเลยแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวกันเองก่อนเมื่อไม่สามารถแบ่งได้ ให้ประมูลระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนแห่งความเป็นเจ้าของรวมนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์