แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ผู้ซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้ขายตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินรายพิพาทโดยอาศัยหลักฐานเป็นหนังสือ แม้มีการวางมัดจำด้วยการวางมัดจำก็เป็นแต่เพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งเท่านั้นหาใช่ตกลงทำสัญญากันด้วยการวางมัดจำแต่อย่างใดไม่ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ที่ห้ามมิให้คู่ความนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาอยู่อีก การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อตกลงด้วยวาจาเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาที่ทำไว้ต่อกันว่าจำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมทางหลวงในทุกประการเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขออนุญาตทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายพิพาทต่ออธิบดีกรมทางหลวง จึงต้องห้ามมิให้รับฟังและถือไม่ได้ว่ามีข้อตกลงดังที่โจทก์กล่าวอ้างดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 และโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายนี้ตามสัญญาจะซื้อขายต่ออธิบดีกรมทางหลวงตามแบบพิมพ์ของกรมทางหลวง แม้จำเลยจะได้แก้ไขข้อความตามแบบพิมพ์นั้น จนเป็นเหตุให้กรมทางหลวงไม่อนุญาตให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมรายนี้ ก็เป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้ขายที่จะกระทำได้โดยชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันตกลงขายที่ดินให้แก่โจทก์โดยจะโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อได้รับโฉนดที่แบ่งแยกแล้ว โดยโจทก์วางเงินมัดจำไว้จำนวน 100,000 บาท เนื่องจากที่ดินแปลงนี้ต้องถูกเวนคืนเป็นทางหลวงแผ่นดินบางส่วนตามระเบียบของกรมทางหลวงเมื่อมีการทำนิติกรรมซื้อขาย จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตต่อกรมทางหลวงเสียก่อน โดยการขออนุญาตนี้ผู้ขอต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมทางหลวงจึงจะได้รับอนุญาตให้ทำนิติกรรมซื้อขายได้ และจำเลยทั้งสองตกลงที่จะปฏิบัติตามทุกประการ โดยจำเลยทั้งสองยินยอมรับราคาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกทางหลวงตัดผ่านตามที่กรมทางหลวงจะเป็นผู้กำหนด ปรากฏตามสำเนาสัญญาและแผนที่ท้ายฟ้องต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขออนุญาตทำนิติกรรมต่อกรมทางหลวงจำเลยที่ 2 ได้แก้คำร้องขออนุญาตเป็นว่า ผู้โอนขอสงวนสิทธิเพื่อการเรียกร้องค่าตอบแทนที่ดินที่ถูกทางหลวงตัดผ่านตามเหตุผลที่เป็นธรรม ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ยินยอม เป็นเหตุให้กรมทางหลวงไม่อนุญาตให้ทำนิติกรรมตามที่ขอได้ ทำให้โจทก์ไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาซื้อขาย โจทก์เสียหายขาดผลกำไร ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญา และชดใช้ค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจำนวน 100,000 บาทถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ ขอให้ชดใช้ค่าขาดผลกำไร และคืนเงินมัดจำ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่เคยตกลงยินยอมปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กรมทางหลวงวางไว้ จำเลยมีสิทธิแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องขออนุญาตทำนิติกรรมต่อกรมทางหลวงได้ จำเลยทั้งสองมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อกรมทางหลวงไม่อนุญาตให้ซื้อขาย สัญญาต้องยกเลิกไปตามข้อ 3 โจทก์มีสิทธิเพียงรับมัดจำคืนจำเลยแจ้งไปแล้วโจทก์ไม่มารับคืนเอง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะมิใช่คู่สัญญากับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำจำนวน 100,000บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และคำขออื่น ๆ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยของเงินมัดจำ 130,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่นั้น ปรากฏว่าสัญญาจะซื้อขายที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อกันตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาที่โจทก์ตกลงซื้อที่ดินรายพิพาทของจำเลยที่ 1 ในราคาตารางวาละ 7,000 บาท โจทก์วางมัดจำไว้เป็นเงิน 100,000 บาท และมีเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 3 ตอนท้ายระบุว่า ถ้าทางราชการไม่อนุญาตให้ขายตามสัญญานี้ ผู้ขายยินยอมคืนเงินมัดจำให้ผู้ซื้อ และผู้ซื้อยินยอมให้สัญญานี้ยกเลิกโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าตามสัญญาจะซื้อขายที่ว่านี้ไม่มีระบุถึงเงื่อนไขบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของกรมทางหลวงเกี่ยวกับการขออนุญาตทำนิติกรรมซื้อขายโดยทุกประการ เมื่อจำเลยที่ 1 และโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายนี้ต่ออธิบดีกรมทางหลวงตามแบบพิมพ์ของกรมทางหลวง แม้ได้มีการแก้ไขขีดฆ่าข้อความตามแบบพิมพ์ที่ว่า “ยอมรับราคาค่าทดแทนที่ดินตามที่กรมทางหลวงจะเป็นผู้กำหนดโดยจะไม่นำราคาที่ขอจดทะเบียนครั้งนี้มาโต้แย้ง” และพิมพ์ข้อความใหม่ขึ้นแทนว่าผู้โอนขอสงวนสิทธิเพื่อการเรียกร้องค่าทดแทนหรือค่าตอบแทนที่ดินที่ถูกทางหลวงตัดผ่านตามเหตุผลที่เป็นธรรม ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ก็เห็นว่าเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 หรือผู้ขายที่จะกระทำได้โดยชอบดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เพราะจำเลยที่ 1 หรือผู้ขายเป็นผู้มีสิทธิที่จะทำความตกลงและรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกทางหลวงตัดผ่านหรือถูกเวนคืน ดังที่ระบุในข้อ (5) ของ เอกสารหมาย จ.4 ประกอบกับทางราชการกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินรายพิพาทไว้เพียงราคาตารางวาละ 600 บาท ทั้ง ๆ ที่มีราคาซื้อขายถึงตารางวาละ 7,000 บาท โจทก์ฟ้องและนำสืบโดยอ้างว่ามีข้อตกลงกันด้วยวาจาในอันที่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมทางหลวงทุกประการในการยื่นคำร้องขออนุญาตทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายนี้ต่ออธิบดีกรมทางหลวง ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าไม่มีข้อตกลงเช่นว่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินรายพิพาทโดยอาศัยหลักฐานเป็นหนังสือ แม้มีการวางมัดจำด้วยการวางมัดจำก็เป็นแต่เพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งเท่านั้น หาใช่ตกลงทำสัญญากันด้วยการวางมัดจำแต่อย่างใดไม่ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ที่ห้ามมิให้คู่ความนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาอยู่อีก การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อตกลงด้วยวาจาเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาที่ทำให้ไว้ต่อกันตามเอกสารหมาย จ.1 ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมทางหลวงในทุกประการเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขออนุญาตทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายพิพาท จึงต้องห้ามมิให้รับฟังและถือไม่ได้ว่ามีข้อตกลงดังที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อกรมทางหลวงไม่อนุญาตให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายนี้ สัญญาจะซื้อขายก็เป็นอันยกเลิกและโจทก์ชอบที่จะได้รับคืนเฉพาะเงินวางมัดจำโดยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนกรณีเกี่ยวกับดอกเบี้ยของเงินมัดจำ โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งจึงเป็นอันยุติ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ