คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4474/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้กู้รับว่าลงลายพิมพ์นิ้วมือในสัญญากู้ซึ่งมีพยานลงชื่อรับรอง ลายพิมพ์นิ้วมือหนึ่งคน และมีผู้ให้กู้ลงชื่อไว้ในช่องผู้ให้กู้ แม้จะได้ความ ว่าผู้ให้กู้รู้เห็นการลงลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้ก็ตาม แต่เมื่อผู้ให้กู้ มิได้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้ด้วย จึงถือไม่ได้ว่า ผู้ให้กู้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้ ดังนี้พยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้จึงมีไม่ถึงสองคน จะถือเสมอกับว่าผู้กู้ ลงลายมือชื่อในสัญญากู้แล้วไม่ได้ขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์โดยทำสัญญาเป็นหนังสือ มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ครบกำหนดชำระเงินแล้วไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์และลายพิมพ์นิ้วมือผู้กู้มีพยานรับรองเพียงคนเดียว ไม่ครบตามกฎหมายกำหนด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ ๑ รับว่าลายพิมพ์นิ้วมือผู้กู้เป็นลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เงินรายพิพาทเอกสารหมาย จ.๑ โดยโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ให้กู้แต่แห่งเดียว จำเลยที่ ๑ พิมพ์ลายนิ้วมือในช่องผู้กู้ ส่วนในช่องพยานคงมีแต่นายสถิตย์ ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาและผู้เขียนสัญญาเพียงผู้เดียว และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙ วรรคสามบัญญัติไว้ชัดว่า พยานที่จะรับรองลายพิมพ์นิ้วมือต้องมี ๒ คน แต่ขณะนั้นมีนายสถิตย์เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ ๑ เพียงคนเดียว ส่วนการที่โจทก์ลงลายมือชื่อแต่ในช่องผู้ให้กู้ ไม่ได้ลงในช่องพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ แม้จำเลยที่ ๑ จะรับว่าพิมพ์ลายนิ้วมือในสัญญากู้ และโจทก์ผู้ให้กู้รู้เห็นการพิมพ์ลายนิ้วมือของจำเลยที่ ๑ ก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ ๑ ด้วยดังนี้ถือไม่ได้ว่าโจทก์ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ ๑ พยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ ๑ จึงมีไม่ถึงสองคน สัญญากู้เงินรายพิพาทย่อมจะถือเสมอกับจำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อในสัญญาไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีนี้แก่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา ๖๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พิพากษายืน

Share