แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินค้างจ่ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 หมายถึงบรรดาเงินทั้งหมดที่ค้างจ่ายอยู่ที่ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาภายใน 5 ปี จึงจะตกเป็นของแผ่นดิน จำเลยนำเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยมาวางศาลเพื่อชำระแก่โจทก์เมื่อวันที่ 2ธันวาคม 2534 โจทก์ยื่นคำแถลงให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 แต่เจ้าหน้าที่ศาลหาสำนวนไม่พบ จนกระทั่งวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จึงแจ้งโจทก์ว่าพบสำนวนแล้ว ดังนั้น ระยะเวลา 1 ปีเศษ ที่เจ้าหน้าที่ศาลหาสำนวนไม่พบจึงเป็นพฤติการณ์พิเศษอันมิใช่ความผิดของโจทก์ที่เพิกเฉยไม่เรียกเอาภายใน 5 ปี เพราะเมื่อโจทก์ทราบว่าพบสำนวนแล้วก็ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่จำเลยวางศาลเพื่อชำระหนี้ในวันรุ่งขึ้นทันทีต้องถือว่าโจทก์ผู้มีสิทธิได้เรียกเอาคืนภายใน 5 ปีแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 24,682 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ แต่ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ คดีถึงที่สุดต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม2534 จำเลยนำเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 52,459.50บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระแก่โจทก์
โจทก์ยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 ว่าโจทก์เคยยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 ขอให้ศาลออกคำบังคับ แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ศาลค้นหาสำนวนไม่พบเป็นเวลา 1 ปีเศษ จนกระทั่งวันที่ 19 มิถุนายน 2540 เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งโจทก์ว่าพบสำนวนแล้วจึงทราบว่าจำเลยวางเงินต่อศาลเพื่อชำระหนี้โจทก์แล้ว ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์รับเงินที่จำเลยวางไว้ทั้งหมด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยวางเงินต่อศาลวันที่ 2 ธันวาคม 2534 โจทก์มีสิทธิรับเงินดังกล่าวได้ทันที แต่เนื่องจากเงินดังกล่าวค้างจ่ายอยู่ในศาลเกิน 5 ปีแล้ว จึงตกเป็นของแผ่นดิน ให้ยกคำแถลง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนตามสมควรว่ามีการค้นหาสำนวนไม่พบจริงหรือไม่และมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลเมื่อวันที่ 3พฤษภาคม 2539 แม้จะอยู่ในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยวางเงินเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ก็เป็นเพียงคำแถลงที่โจทก์ขอออกคำบังคับ มิใช่คำแถลงขอรับเงินที่จำเลยนำมาวางต่อศาลหรือขอขยายระยะเวลาในการขอรับเงินดังกล่าว แม้เจ้าหน้าที่จะนำคำแถลงดังกล่าวเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณา ศาลก็มีคำสั่งแต่เพียงให้ยกคำแถลงของโจทก์ดังกล่าวเนื่องจากจำเลยวางเงินเพื่อชำระหนี้ต่อศาลแล้ว ไม่จำต้องออกคำบังคับไม่อาจมีคำสั่งให้โจทก์รับเงินดังกล่าวไปได้ทันทีหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้เนื่องจากเกินคำขอ โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อขอรับเงินดังกล่าว หากยื่นคำแถลงดังกล่าวแล้วหรือมีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวหรือทำให้ศาลไม่อาจมีคำสั่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ก็ต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาดังกล่าวก่อนสิ้นระยะเวลานั้นเว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนได้ความว่าเจ้าหน้าที่ศาลหาสำนวนไม่พบ จนกระทั่งหลังจากเกินกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่จำเลยวางเงินเพื่อชำระหนี้แล้ว จึงหาสำนวนพบและแจ้งให้โจทก์ทราบกรณีดังกล่าวเป็นเพียงพฤติการณ์พิเศษไม่ถือว่ามีเหตุสุดวิสัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2539 การที่โจทก์ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่จำเลยนำมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้หลังจากเกินกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิรับเงินดังกล่าวเงินที่จำเลยนำมาวางต่อศาลดังกล่าวเป็นเงินค้างจ่ายอยู่ในศาลซึ่งผู้มีสิทธิมิได้เรียกร้องเอาภายใน 5 ปี จึงตกเป็นของแผ่นดินโดยผลของกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาเงินดังกล่าวอีกต่อไป และศาลไม่มีอำนาจที่จะขยายระยะเวลาในการรับเงินดังกล่าว จึงให้ยกคำแถลงของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยมาและโจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า คดีนี้ได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาและคดีถึงที่สุดแล้ว แต่เนื่องจากจำเลยยังไม่ทราบถึงคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงขอให้ศาลออกคำบังคับเพื่อแจ้งแก่จำเลยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปพร้อมทั้งวางเงินค่านำหมายในวันเดียวกันนั้นซึ่งยังอยู่ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2534 ที่จำเลยวางเงินเพื่อชำระหนี้ แต่เจ้าหน้าที่ศาลค้นหาสำนวนไม่พบเนื่องจากในปี 2534 มีการย้ายสถานที่เก็บสำนวนความคดีหมายเลขแดงจากชั้นล่างของศาลชั้นต้นไปจัดเก็บไว้ที่ชั้นที่ 2และที่ 3 โจทก์ได้ติดตามสอบถามตลอดมาเป็นระยะเวลา 1 ปีเศษ จนกระทั่งวันที่19 มิถุนายน 2540 เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าพบสำนวนแล้ว ต่อมาวันที่20 มิถุนายน 2540 โจทก์จึงยื่นคำแถลงขอรับเงินที่จำเลยนำมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิรับเงินที่จำเลยนำมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 บัญญัติว่า บรรดาเงินต่าง ๆ ที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคด ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายใน 5 ปี ให้ตกเป็นของแผ่นดินจากบทบัญญัติดังกล่าวนั้นมุ่งหมายถึง บรรดาเงินทั้งหมดที่ค้างจ่ายอยู่ที่ศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิอาทิเช่นโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาภายใน 5 ปี จึงจะตกเป็นของแผ่นดิน แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ปรากฏว่าในวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 ที่โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับนั้นได้ความว่าเจ้าหน้าที่ศาลค้นหาสำนวนไม่พบจนกระทั่งวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จึงแจ้งให้โจทก์ทราบว่าพบสำนวนแล้ว ดังนั้นจึงเห็นว่าระยะเวลา 1 ปีเศษ ซึ่งเป็นพฤติการณ์พิเศษที่เจ้าหน้าที่ศาลหาสำนวนไม่พบอันมิใช่ความผิดของโจทก์ที่เพิกเฉยไม่เรียกเอาภายใน5 ปี แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ทราบว่าพบสำนวนแล้ว โจทก์ก็ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่จำเลยวางศาลเพื่อชำระหนี้ในวันที่ 20 มิถุนายน 2540 ทันที จึงต้องถือว่า โจทก์ผู้มีสิทธิได้เรียกเอาภายใน 5 ปี แล้ว ข้อเท็จจริงคดีนี้แตกต่างกับข้อเท็จจริงในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2539 ดังที่ศาลล่างทั้งสองอ้างอิงและที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำแถลงขอรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำสั่งในเรื่องความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย
พิพากษากลับ ให้ดำเนินการจ่ายเงินที่จำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาตามคำแถลงลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 ให้แก่โจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ”