คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้จำเลยทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และสั่งให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายภายในกำหนด 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง จึงเป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์จะต้องนำพนักงานเดินหมายไปส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วยตนเอง แม้จะได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ได้ไปเสียค่าใช้จ่ายในการนำส่งหมายสำเนาอุทธรณ์ไว้แล้ว ก็ไม่ทำให้จำเลยทั้งสี่หมดหน้าที่ที่จะต้องจัดการนำส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้น ปรากฏว่าพนักงานเดินหมายรายงานต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งในวันที่ 15 เดือนเดียวกันว่า รอจำเลยทั้งสี่แถลง ถ้าจำเลยทั้งสี่นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ด้วยตนเองแล้ว จำเลยทั้งสี่ก็จะทราบผลทันทีในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ก็ต้องแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรภายในเวลาอันสมควร เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่นำส่งเองกลับปล่อยให้พนักงานเดินหมายไปส่งตามลำพังเช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นความผิดของจำเลยทั้งสี่เองที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จะอ้างว่าไม่ทราบผลการส่งหมายไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า”รอจำเลยทั้งสี่แถลง” โดยไม่กำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสี่แถลง และไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ทราบอีก จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยชอบแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 จนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 15สิงหาคม 2534 ว่า จำเลยทั้งสี่ไม่แถลงเข้ามาเป็นระยะเวลาถึง 6 เดือนเศษศาลชั้นต้นจึงได้มีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดีได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 132 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยสาขาปทุมวัน มีวงเงิน 30,000,000 บาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการขายส่งบุหรี่จากโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง โดยจำเลยจะเป็นผู้ออกเงินทดรองให้โจทก์สัปดาห์ละไม่เกิน 30,000,000 บาท แล้วจำเลยจะหักเงินในบัญชีของโจทก์ดังกล่าว ส่วนโจทก์จะนำเงินค่าบุหรีที่ขายได้นำเข้าบัญชีดังกล่าวเช่นกันเพื่อหักกลบลบกันตามวิธีการธนาคาร โจทก์ จำเลยและโรงงานยาสูบได้ปฏิบัติด้วยดีเช่นนี้ตลอดมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จำเลยได้มีหนังสือแจ้งไปยังโรงงานยาสูบอย่างกะทันหันโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ ขอยกเลิกวงเงินทดรองจ่ายค่าบุหรี่ ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์จำเลยยังมิได้เลิก และโจทก์มิได้ผิดสัญญาแต่ประการใด การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการละเมิดและผิดสัญญา กับใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย กล่าวคือ โจทก์ไม่อาจซื้อบุหรี่ตามข้อตกลงได้ โจทก์ขาดผลกำไรไม่ต่ำกว่า 4,000,000 บาท โจทก์ขอคิด 5 ปี เป็นเงิน 20,000,000 บาท เมื่อโจทก์ซื้อบุหรี่ไปจำหน่ายให้ลูกค้าไม่ได้ตามปกติลูกค้าจึงไม่อาจชำระค่าบุหรี่ที่ค้างให้โจทก์ได้รวมเป็นเงิน 30,000,000 บาท กับโจทก์ต้องเสียชื่อเสียงเกียรติคุณในกิจการการค้าบุหรี่และกิจการอื่น ๆ ที่โจทก์สร้างสมมาตั้งแต่ปี 2497 โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 48,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 98,000,000 บาท แก่โจทก์ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพื่อนำเงินเป็นทุนหมุนเวียนในการสั่งซื้อบุหรี่จากโรงงานยาสูบจริง ในการที่โจทก์ซื้อบุหรี่จากโรงงานยาสูบดังกล่าว โจทก์ได้ทำความตกลงกับจำเลยว่าโจทก์จะสั่งซื้อบุหรี่จากโรงงานยาสูบสัปดาห์ละไม่เกิน 30,000,000 บาท ซึ่งโจทก์เป็นผู้สั่งซื้อในนามร้านจำรัสพาณิชย์และร้านกมลสิทธิ์สัปดาห์ละไม่เกิน 15,000,000 บาท กับสั่งซื้อในนามร้านสายสัมพันธ์และร้านกมลสิทธิ์ สัปดาห์ละไม่เกิน 15,000,000 บาท เงินค่าบุหรี่โจทก์ได้ตกลงให้จำเลยเป็นผู้ทดรองจ่ายให้แก่โรงงานยาสูบแทนโจทก์ทันทีที่โรงงานยาสูบเรียกเก็บเงินจากจำเลย เสร็จแล้วให้จำเลยหักเงินในบัญชีของโจทก์ที่จำเลยได้ทันทีเช่นกัน และโจทก์ต้องนำเงินมาเข้าบัญชีของโจทก์ให้มียอดเงินที่ตกเป็นลูกหนี้จำเลยตามบัญชีไม่เกิน 30,000,000 บาท ตามจำนวนวงเงินกู้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์จะเรียกเก็บเงินค่าบุหรี่จากลูกค้าของโจทก์ที่สั่งซื้อบุหรี่จากโจทก์ได้หรือไม่ โจทก์จำเลยได้ปฏิบัติต่อกันตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเพื่อชำระเป็นค่าบุหรี่แก่โรงงานยาสูบเรื่อยมาหลายครั้งจากวงเงินเพียง 100,000 บาท ในปี 2504 จนถึงวงเงิน 30,000,000 บาท ในปัจจุบัน การที่จำเลยมีหนังสือถึงโรงงานยาสูบแจ้งยกเลิกวงเงินทดรองจ่ายค่าบุหรี่จำนวน 30,000,000 บาท เป็นเพราะโจทก์ได้ทำผิดข้อตกลงกับจำเลยกล่าวคือ โจทก์ได้สั่งซื้อบุหรี่จากโรงงานยาสูบจนยอดหนี้เกินวงเงิน 30,000,000 บาท โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 2 – 11 เมษายน 2539 โจทก์ซื้อบุหรี่เป็นจำนวนถึง 37,964,853 บาท จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ทราบในวันที่ 9 เมษายน 2529 ว่าเงินที่จำเลยได้ทดรองจ่ายแทนโจทก์ไปนั้นสูงกว่าข้อตกลง ขอให้โจทก์นำเงินมาชำระ มิฉะนั้นก็ขอให้โจทก์ระงับการสั่งซื้อบุหรี่จากโรงงานยาสูบไว้ก่อน และให้โจทก์นำเงินค่าบุหรี่ที่ยังค้างชำระอยู่มาชำระ ถ้าหากไม่ชำระ จำเลยก็จะยกเลิกวงเงินทดรองจ่ายค่าบุหรี่ โจทก์เพิกเฉยเสีย กลับซื้อบุหรี่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ จำเลยมิได้แจ้งยกเลิกวงเงินทดรองจ่ายค่าบุหรี่อย่างกะทันหันเพราะมีการเจรจาระหว่างโจทก์จำเลยก่อนแล้ว โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตรีบซื้อบุหรี่เพราะทราบดีว่าถึงอย่าไงรจำเลยก็ต้องจ่ายค่าบุหรี่แทนโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ไม่สามารถซื้อบุหรี่ตามข้อตกลง เป็นเหตุให้โจทก์ขาดผลกำไรจากการค้าโดยโจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 20,000,000 บาท ข้อกล่าวอ้างของโจทก์เป็นเท็จทั้งสิ้น เพราะปัจจุบันนี้โจทก์ยังคงซื้อบุหรี่จากโรงงานยาสูบเช่นเดิม และข้อที่ว่าลูกค้าของโจทก์ไม่ชำระหนี้ค่าบุหรี่ที่ค้างชำระแก่โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายเก็บเงินจากลูกค้าที่เป็นลูกหนี้ของโจทก์ไม่ได้เป็นเงิน 30,000,000 บาท ไม่เป็นความจริง ทั้งเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการคาดคะเนเอาเอง และเป็นความเสียหายที่เกิดจากพฤติการณ์พิเศษที่ไม่อาจเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ และข้อที่ว่าโจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณในทางทำมาหาได้ของโจทก์ โดยโจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 48,000,000 บาท ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันโจทก์ยังคงทำกิจการค้าบุหรี่อยู่ตามปกติ และโจทก์มิได้ชำระค่าบุหรี่ที่ค้างแก่จำเลย ไม่ปรากฏว่าโจทก์เสียหายแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 5,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้น การที่จำเลยยอมออกเงินทดรองให้โจทก์ซื้อบุหรี่ได้ ก็เพราะโจทก์ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ตามเอกสารหมาย ล. 33 ดังนั้นสิทธิของโจทก์จะมีอย่างไรในการซื้อบุหรี่ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว สัญญาข้อ 1 ว่าผู้กู้ได้ขอกู้เงินตามวิธีและธรรมเนียมประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีของธนาคารจากผู้ให้กู้จำนวนเงิน 30,000,000 บาท ซึ่งตกลงกันว่าผู้กู้จะเบิกเงินไปจากผู้ให้กู้ตามจำนวนและเวลาที่ผู้กู้ต้องการและตามที่ผู้ให้กู้จะพึงพิจารณาอนุญาตตามที่เห็นสมควร บรรดาใบเบิกเงินหรือคำสั่งจ่ายของผู้กู้ซึ่งจะเป็นเช็คหรือเอกสารในรูปใด ๆ ก็ดี ให้ถือเป็นหลักฐานแห่งหนี้เงินกู้รายนี้และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งสัญญานี้ และเงินอันผู้กู้จะเบิกไปจากผู้ให้กู้ตามใบเบิกเงินหรือคำสั่งจ่ายเงินเช่นว่านั้นเป็นหนี้เงินกู้ตามสัญญานี้เช่นกัน ข้อ 4 ว่า ผู้กู้จะผ่อนชำระหนี้ตามสัญญานี้ให้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ และให้หมดสิ้นภายในวันที่ 18 มิถุนายน 2528 แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดที่กล่าวมาก็ได้ ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควรและโดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ ผู้กู้สัญญาว่าในกรณีที่ผู้ให้กู้เรียกร้องดังกล่าวนี้ผู้กู้จะชำระหนี้ตามคำเรียกร้องโดยมิอิดเอื้อน ดังนี้ แสดงว่าการที่จำเลยจะให้โจทก์กู้เงินได้เพียงใด และใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาใดย่อมอยู่ในดุลพินิจของจำเลยโดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยเกินสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวนเงินสูง ขณะนั้นโจทก์ก็ยังซื้อบุหรี่จากโรงงานยาสูบได้ตามที่จำเลยมีหนังสือรับรองกับโรงงานยาสูบไว้ ทั้งในช่วงวันที่ 2 – 11 เมษายน 2529 โจทก์ซื้อบุหรี่ต่อเนื่อง แต่โจทก์นำเงินเข้าบัญชีเพียงจำนวนน้อย ประกอบกับโจทก์มีหลักประกันเป็นเงินฝากประจำเพียง 30,000,000 บาท เท่านั้น ภาระหนี้ของโจทก์เพิ่มขึ้นโดยลำพัง ดังนั้น จำเลยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ดุลพินิจควบคุมยอดหนี้เงินกู้ของโจทก์ให้เป็นไปตามที่จำเลยเห็นสมควรตามสิทธิที่จำเลยมีอยู่ในฐานะผู้ให้กู้ การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งไปยังโรงงานยาสูบ ตามเอกสารหมาย จ. 19 ก็เพื่อควบุคมจำนวนเงินกู้ของโจทก์โดยไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์ทราบเพราะเป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับโรงงานยาสูบโดยตรง การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่น ๆ ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share