แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (เดิม) ตอนท้ายบัญญัติว่า “ไม้ชนิดอื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันตัดฟันต้นไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือ การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องได้ความว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่า เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ตามฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 69, 73, 74, 75 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 58, 83, 91 ริบไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือท่อนของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1052/2557 ของศาลแขวงลำปาง เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและข้อหามีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ แต่ให้การปฏิเสธในข้อหาร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 4 เดือน และปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 12 เดือน และปรับ 14,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 7,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ภายในหนึ่งปีแรก และทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือท่อนของกลาง เนื่องจากศาลรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยจึงไม่อาจบวกโทษได้ ข้อหาอื่นและคำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือของกลางทั้งหมดให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา นายสุรพล ปลัดอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง กับพวก พบจำเลยขับรถยนต์กระบะบรรทุกไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือตัดเป็นท่อน ๆ เต็มคันรถบริเวณหน้าวัดศรีบุญโยง ตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ลำดับที่ 31 และ 102 ตามสำเนาบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 จำเลยรับว่ารับจ้างนายเทียม ให้มาตัดไม้และขนไม้ของกลาง ขณะนั้นจำเลยและนายเทียมไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินที่ตัดไม้ เจ้าหน้าที่จึงยึดไม้และรถคันดังกล่าวไว้ ต่อมาเวลาประมาณ 12 นาฬิกา ขณะที่พันตำรวจตรีมนตรีปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร สถานีตำรวจภูธรเกาะคา นายสุรพลกับพวกร่วมกันจับกุมจำเลยพร้อมยึดไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือของกลางรวม 87 ท่อน มาส่งมอบ โดยกล่าวหาว่ามีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ชั้นสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับชั้นจับกุม จำเลยให้การรับสารภาพ ต่อมาแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยเพิ่มเติมว่า ร่วมกันทำไม้หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต มีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน จำเลยให้การรับสารภาพ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้ว่าที่ดินที่เกิดเหตุที่จำเลยกับพวกตัดโค่นไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือของกลางเป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) การที่จำเลยกับพวกร่วมกันตัดฟันต้นไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือในบริเวณพื้นที่ป่าดังกล่าว และนำไม้ดังกล่าวบรรทุกรถยนต์เคลื่อนที่ออกจากบริเวณป่าที่เกิดเหตุมายังจุดที่ถูกจับโดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำไม้หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้าม โดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง เห็นว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องนั้นต้องได้ความว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่า แต่ปรากฏว่าเมื่อพันตำรวจตรีมนตรี พนักงานสอบสวน ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมกับนายเทียมใช้เครื่องมือจี พี เอส จับตำแหน่งพิกัดที่เกิดเหตุ แล้วส่งไปตรวจสอบที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 จังหวัดลำปาง ได้รับการตอบกลับว่า พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนจะเป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 หรือไม่ ต้องตรวจสอบกับหลักฐานการครอบครองพื้นที่เกิดเหตุ ต่อมาพันตำรวจตรีมนตรี ได้มีหนังสือสอบถามไปที่หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป. 26 (แม่เรียง) ไม่ได้รับการยืนยันว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 แต่ระบุว่าเป็นพื้นที่ป่าเต็งรังอยู่ในตำบลไหล่หิน ทั้งปรากฏจากนายสุรพล ผู้จับกุมจำเลย เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอยู่ในเขตป่าไม้หรือป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ ส่วนที่นายสุรพลอ้างว่าได้ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุแล้วไม่พบหมุดหลักเขตนั้น ก็อาจเป็นเพราะหมุดหลักเขตนั้นฝังจมดินอยู่และนายสุรพลไม่ทราบตำแหน่งที่หมุดหลักเขตปักอยู่เพราะไม่มีการตรวจสอบกับเจ้าพนักงานที่ดินจึงทำให้ตรวจสอบไม่พบ และนายสุรพลยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านต่อไปว่า พยานได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ตรวจพิกัดที่เกิดเหตุว่าเป็นเขตป่าหรือไม่ ปรากฏค่าพิกัดพื้นที่เกิดเหตุที่คำนวณได้อยู่ที่ตำแหน่ง 18 องศา 15 ลิปดา 28.33 ฟิลิปดาเหนือและ 99 องศา 32 ลิปดา 40.1 ฟิลิปดาตะวันออก ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหนังสือรับรองว่าที่ดินตามตำแหน่งพิกัดดังกล่าวตั้งอยู่ที่พื้นที่ใด ซึ่งสำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขาเกาะคา มีหนังสือรับรองว่า ที่ดินตามตำแหน่งพิกัดดังกล่าวอยู่ในระวาง 4945 IV 5618 ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง ไม่ได้อยู่ที่ตำบลท่าผา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ตามฟ้อง แสดงว่าพิกัดจีพีเอสที่พยานโจทก์วัดได้ไม่ตรงกับที่ดินที่เกิดเหตุตามฟ้อง จึงไม่สามารถใช้ค่าพิกัดดังกล่าวยืนยันว่าที่เกิดเหตุเป็นป่าหรือไม่ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่าอีก ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ตามฟ้องได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า พื้นที่เกิดเหตุมิใช่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า ไม้ที่จำเลยครอบครองมิใช่ไม้ที่ได้จากการทำไม้ในพื้นที่ป่าตามความหมายของมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 เมื่อไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือไม่ใช่ไม้หวงห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 แต่เป็นไม้ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 7 ตอนท้าย อันจะเป็นไม้หวงห้ามเฉพาะไม้ในป่า ดังนี้ การที่จำเลยได้ไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลืออันยังมิได้แปรรูปของกลางไว้ในครอบครองเป็นการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีไม้หวงห้ามประเภท ก. อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลยในข้อหานี้ถูกต้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน