แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 326, 328,83 ต่อศาลแขวง โดยบรรยายฟ้องแยกเป็น 3 ข้อ แต่ละข้อวันเวลาเกิดเหตุต่างกันและการกระทำของจำเลยไม่เหมือนกัน แต่ละกรรมเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองจึงเป็นความผิดหลายกรรม มิใช่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทที่ศาลจะต้องลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 328 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ.มาตรา 90เมื่อปรากฏว่าความผิดตามฟ้องข้อ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 326 ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 ประกอบด้วยมาตรา 22 (5) ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงก็ชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับความผิดตาม ป.อ.มาตรา 326 ตามฟ้องข้อ 1 นี้ได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วมีคำสั่งไปตามรูปคดี แม้ว่าความผิดตามฟ้องข้อ 2 และข้อ 3 จะเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 328 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ เป็นพระภิกษุ โจทก์ที่ ๓ ถึงที่ ๖ เป็นพุทธศาสนิกชน จำเลยทั้ง ๑๖ คน ได้ร่วมกันกระทำความผิด คือ (ข้อ ๑) เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๓๗ เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๗ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๒ ที่ ๑๔ และที่ ๑๕ ได้ร่วมกันพูดใส่ความโจทก์ทั้งหกว่าโจทก์ทั้งหกเอาศาสนาบังหน้าหากินสมคบกันกินเงินผ้าป่าเงินกฐิน เงินหล่อพระประธาน โดยจำเลยดังกล่าวกล่าวถ้อยคำข้างต้นต่อหน้าสาธารณชน (ข้อ ๒) ระหว่างวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๘ มิถุนายน๒๕๓๗ จำเลยทั้งสิบหกกับบุคคลอื่นที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้สมคบกันใส่ความโจทก์โดยโฆษณาเป็นเอกสาร คือคำร้องทุกข์กล่าวโทษโจทก์ต่ออธิบดีกรมการศาสนาและเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นว่าโจทก์ทั้งหกร่วมกันเอาเงินบริจาค จำนวน๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ของวัดประจันตวนารามไปเป็นประโยชน์ส่วนตนทั้งหมด และใส่ความอีกว่าโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ค้าขายสิ่งของที่ประชาชนนำมาบริจาค โจทก์ที่ ๒มีพฤติกรรมจิตวิปริตชอบเอาหนุ่ม ๆ วัยรุ่นหน้าตาดี และพระในวัดบำเรอความใคร่เป็นประจำ กลั่นแกล้งแจ้งจับชาวบ้านที่ตัดต้นไม้ในวัด และ(ข้อ ๓) ระหว่างวันที่๒๒ ถึง ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๗ จำเลยทั้งหมดโดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นตัวแทน ได้นำเอกสารไปยื่นต่อบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน มีข้อความว่า โจทก์ที่ ๑ถึงที่ ๓ ได้ร่วมกันงุบงิบเงินผ้าป่า กฐิน และเงินหล่อพระประธานของวัดซึ่งเป็นการโฆษณาใส่ความโจทก์ทางหนังสือพิมพ์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๒๖, ๓๒๘
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องโดยไต่สวนพยานโจทก์ได้ ๑ คน แล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดการไต่สวนมูลฟ้อง และวินิจฉัยว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
โจทก์ทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งหก ข้อ ๑ อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยแยกเป็น ๓ ข้อ แต่ละข้อวันเวลาเกิดเหตุต่างกันและการกระทำของจำเลยไม่เหมือนกัน แต่ละกรรมเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง จึงเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทที่ศาลจะต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ไม่ เมื่อปรากฏว่าความผิดตามฟ้องข้อ ๑ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒ (๕) ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงก็ชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ตามฟ้องข้อ ๑ ได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าว แล้วมีคำสั่งไปตามรูปคดี แม้ว่าความผิดตามฟ้องข้อ ๒ และข้อ ๓ จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงก็ตาม ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าฟ้องโจทก์ทุกข้อไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ตามฟ้องของโจทก์ข้อ ๑ แล้วมีคำสั่งตามรูปคดี.