คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 190/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องคงมีข้อต่อสู้เฉพาะอุปกรณ์แห่งหนี้ว่าไม่ต้องรับผิดเท่านั้นจึงย่อมรับฟังตามคำรับของจำเลยโดยไม่ต้องอาศัยตราสารได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องจริงส่วนข้อต่อสู้เรื่องอุปกรณ์แห่งหนี้นั้นในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็ได้บันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาว่าส่วนที่จำเลยให้การว่าตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข5ในข้อ8โจทก์เติมข้อความ”ตลอดจนดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทน”โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายอื่นใดนั้นโจทก์แถลงว่าตามสัญญาค้าประกันเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ในข้อ1ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตลอดจนดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนไว้ชัดเจนแล้วศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่มีประเด็นนี้อีกการที่จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้มีผลเท่ากับจำเลยได้ยอมรับผิดตามข้ออ้างของโจทก์ในส่วนนี้แล้วเพราะถ้าจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะคัดค้านไว้โดยเฉพาะคดีนี้จำเลยได้เสนอประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยมีสิทธิที่จะคัดค้านได้อยู่แล้วแต่ก็มิได้คัดค้านว่าไม่ถูกต้องประการใดประเด็นข้อพิพาทจึงต้องเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดจะยกขึ้นคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535บริษัทมัลติเพล็กซ์ อาร์ เอ็น ซี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นบัญชีเดินสะพัดกับสาขาสะพานพระปิ่นเกล้าของโจทก์ในวงเงิน 10,000,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 43 วัน นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป โจทก์ได้ให้บริษัทดังกล่าวใช้บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 1077-6 หรือ 155-0-01077-6 ในการเบิกถอนเงินหรือนำเงินเข้าหักทอนบัญชี บริษัทดังกล่าวยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ17 ต่อปี และยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า และหากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนดยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างทบเข้ากับจำนวนเงินที่เบิกได้ตามประเพณีการค้าขายในบัญชีเดินสะพัดของธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 บริษัทดังกล่าวได้ส่งมอบเงินฝากประจำที่บริษัทดังกล่าวฝากไว้กับโจทก์จำนวน 3,000,000 บาท พร้อมสมุดคู่ฝากเลขที่ 2634-0 เพื่อเป็นประกันหนี้ หากบริษัทดังกล่าวผิดนัดยินยอมให้หักเงินจากบัญชีชำระหนี้ได้โดยมิได้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ในวันเดียวกันจำเลยได้มอบตัวเข้าผูกพันทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ในวงเงิน 2,100,000 บาท ให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ17 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไปโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและยอมให้โจทก์ขยายอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหรือผ่อนเวลาชำระหนี้แก่บริษัทดังกล่าวด้วย โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าและจำเลยจะไม่ยกข้อโต้แย้งใด ๆ ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสิ้น เมื่อได้ทำสัญญาแล้วบริษัทดังกล่าวได้เบิกเงินและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีเรื่อยมา เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีคือวันที่ 31มีนาคม 2535 บริษัทดังกล่าวยังคงเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่จำนวน 6,997,683.18 บาท แต่บริษัทดังกล่าวก็ยังคงเบิกเงินเกินบัญชีและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีอีก วันที่ 21 กรกฎาคม 2535 โจทก์จึงได้นำเงินฝากประจำของบริษัทดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยจำนวน3,598,731.90 บาท เข้าหักทอนบัญชีชำระหนี้ในวันนั้นบริษัทดังกล่าวยังคงเป็นหนี้อยู่จำนวน 3,715,573.91 บาท ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม2535 บริษัทดังกล่าวได้นำเงินจำนวน 134,680.57 บาท เข้าหักทอนบัญชี จึงยังคงเป็นหนี้อยู่จำนวน 3,887,767.02 บาท หลังจากนั้นบริษัทดังกล่าวก็ไม่เคยชำระหนี้อีกเลย ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน2536 ศาลแพ่งธนบุรีได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์บริษัทดังกล่าวเด็ดขาด ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.90/2536 แต่บริษัทดังกล่าวก็ไม่มีทรัพย์สินใดที่สามารถยึดมาชำระหนี้ได้ โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แทน แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องรับผิดตามภาระค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน312,036.96 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 2,412,036.96 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน 2,100,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า หนี้ที่บริษัท มัลติเพล็กซ์ อาร์ เอ็น ซี(ประเทศไทย) จำกัด มีต่อโจทก์และจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันนั้นถึงกำหนดชำระมาตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2535 แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการเรียกร้องให้บริษัทดังกล่าวชำระหนี้จนทำให้ภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น เมื่อบริษัทดังกล่าวถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโจทก์ไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จนเป็นเหตุให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้ในคดีล้มละลาย หากโจทก์ใช้สิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยในคดีนี้ย่อมทำให้จำเลยเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นลูกหนี้ ภาระผูกพันของจำเลยตามสัญญาค้ำประกันย่อมสิ้นไปจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง นอกจากนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวในข้อ 8 โจทก์ได้เติมข้อความที่ระบุว่าให้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนและค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยและเรียกค่าเสียหายอื่นใดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 2,412,036.96 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน 2,100,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยปฏิเสธข้อความในสัญญาค้ำประกันเฉพาะที่เป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ตามภาระค้ำประกันเท่านั้น มิได้ปฏิเสธสัญญาค้ำประกันที่ได้ทำไว้ต่อโจทก์แต่อย่างใด ทั้งเรื่องหนี้อุปกรณ์โจทก์จำเลยก็ได้ยอมรับไว้ต่อศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมิได้กำหนดเป็นประเด็นแห่งคดีไว้ แม้ต้นฉบับสัญญาค้ำประกันจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ไม่ต้องนำมาวินิจฉัยอีกนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้ว่าจำเลยได้ยอมตัวเข้าผูกพันทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทมัลติเพล็กซ์ อาร์ เอ็น ซี (ประเทศไทย)จำกัด ในวงเงิน 2,100,000 บาท ให้ดอกเบี้ยร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป และสัญญาว่าถ้าหากบริษัทมัลติเพล็กซ์ อาร์ เอ็น ซี (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน จำเลยยินยอมร่วมรับผิดกับบริษัทมัลติเพล็กซ์ อาร์ เอ็น ซี (ประเทศไทย) จำกัด อย่างลูกหนี้ร่วมชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน และถ้าโจทก์กับบริษัทมัลติเพล็กซ์ อาร์ เอ็น ซี (ประเทศไทย) จำกัด ตกลงขยายอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหรือโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่บริษัทมัลติเพล็กซ์ อาร์ เอ็น ซี (ประเทศไทย) จำกัด โดยจะแจ้งหรือมิได้แจ้งให้จำเลยทราบหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าจำเลยตกลงในการขยายอายุสัญญาหรือผ่อนเวลาเช่นว่านั้นทุกครั้งไป โดยจะไม่ยกข้อโต้แย้งใด ๆ ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสิ้น รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 5 ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้ในส่วนนี้ว่า สัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ในข้อ 8 ที่ระบุให้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนและค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ให้แก่โจทก์นั้น โจทก์มาเติมข้อความดังกล่าวลงในสัญญาแต่เพียงฝ่ายเดียวด้วยการพิมพ์ข้อความดังกล่าวลงไปในสัญญาโดยจำเลยมิได้รู้เห็นและยินยอม โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยหรือเรียกค่าเสียหายอื่นใด จากคำให้การดังกล่าวจึงเห็นได้ชัดเจนว่า จำเลยรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องคงมีข้อต่อสู้เฉพาะอุปกรณ์แห่งหนี้ว่าไม่ต้องรับผิดเท่านั้น จึงย่อมรับฟังตามคำรับของจำเลยโดยไม่ต้องอาศัยตราสารได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องจริง ส่วนข้อต่อสู้เรื่องอุปกรณ์แห่งหนี้นั้นในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นก็ได้บันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม 2537 ว่า ส่วนที่จำเลยให้การว่าตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ในข้อ 8 โจทก์เติมข้อความ “ตลอดจนดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทน” โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายอื่นใดนั้น โจทก์แถลงว่าตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ในข้อ 1 ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตลอดจนดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนไว้ชัดเจนแล้วศาลชั้นต้นจึงเห็นว่า ไม่มีประเด็นนี้อีก การที่จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นจนศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้มีผลเท่ากับจำเลยได้ยอมรับผิดตามข้ออ้างของโจทก์ในส่วนนี้แล้วเพราะถ้าจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะคัดค้านไว้ โดยเฉพาะคดีนี้จำเลยได้เสนอประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วย มีสิทธิที่จะคัดค้านได้อยู่แล้ว แต่ก็มิได้คัดค้านว่าไม่ถูกต้องประการใด ประเด็นข้อพิพาทจึงต้องเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดจะยกขึ้นคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share