คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4462/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขอให้นับโทษต่อมิได้มีกฎหมายบัญญัติว่าจะต้องกล่าวมาในคำฟ้อง โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้นับโทษต่อในภายหลังได้
คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยโดยมิได้มีคำขอท้ายคำฟ้องแต่ละสำนวนให้นับโทษต่อ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองสำนวนเป็นบุคคลเดียวกันกระทำผิดข้อหาเดียวกัน ขอให้นับโทษในคดีทั้งสองสำนวนต่อกันไป แม้จำเลยไม่คัดค้านคำร้องและไม่เคยรับไว้ในที่ใดว่าเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่คดี สองสำนวนนี้เป็นเรื่องโจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลยที่ศาลชั้นต้นแห่งเดียวกันในเวลาใกล้เคียงกัน และต่อมาศาลสั่งให้รวมการพิจารณาด้วยกัน ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดว่าที่โจทก์อ้างมาในคำร้องนั้นเป็นความจริง ไม่มีปัญหาว่าจำเลยแต่ละคนอาจจะมิได้เป็นบุคคลคนเดียวกันอันจะทำให้ไม่อาจนับโทษต่อได้ เมื่อโจทก์ได้แสดงความประสงค์ขอให้นับโทษ ต่อมาชัดเจนและจำเลยทั้งสองคดีเป็นบุคคลคนเดียวกัน แม้จำเลยจะมิได้แถลงรับก็เห็นประจักษ์อยู่แล้วย่อมไม่มีทาง ที่ศาลชั้นต้นจะสั่งคำร้องของโจทก์เป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากสั่งอนุญาต การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอย่างใดจนกระทั่งพิพากษา ต้องถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องขอให้นับโทษต่อโดยปริยายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องทั้งสองสำนวนแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ การกระทำของจำเลยแต่ละสำนวนเป็นความผิดสำนวนละ ๒ กรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ สำนวนแรกตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ. ๑๐ จำคุก ๑ ปี ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ. ๑๒ จำคุก ๖ เดือน รวมจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงจำคุก ๑ ปี สำนวนหลังตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ. ๔/๒ จำคุก ๑ ปี ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ. ๕/๒ จำคุก ๖ เดือน รวมจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงจำคุก ๑ ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนไม่ได้ขอให้พิพากษานับโทษของจำเลยติดต่อกัน จึงนับโทษติดต่อกันให้ไม่ได้
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลย สำนวนแรกตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ. ๑๒ จำคุก ๔ เดือน สำนวนหลังตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ. ๕/๒ จำคุก ๒ เดือน รวมลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองสำนวนมีกำหนด ๒ ปี ๖ เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงจำคุก ๑ ปี ๘ เดือน นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลพิพากษาให้นับโทษของจำเลยทั้งสองสำนวนต่อกันไปได้หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยไม่คัดค้านเมื่อโจทก์ยื่นคำร้อง จะคือว่าจำเลยยอมรับไม่ได้ และศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอนุญาตในคำร้องของโจทก์ ทั้งมิได้สั่งเรื่องนี้ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้วยนั้น ปรากฏว่าคดีทั้งสองสำนวนนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยโดยมิได้ขอมาในคำขอท้ายคำฟ้องให้นับโทษต่อ แต่โจทก์ยื่นคำร้องเข้ามาในคดีทั้งสองสำนวนเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ อ้างว่าจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นบุคคลคนเดียวกัน กระทำผิดข้อหาเดียวกัน เมื่อพิพากษาลงโทษจำเลย ขอให้นับโทษในคดีทั้งสองเรื่องต่อกันไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องฉบับหนึ่งว่า “สำเนาให้จำเลย สั่งในรายงาน” จำเลยได้รับสำเนาคำร้องทั้งสองฉบับแล้วมิได้คัดค้าน แต่หลังจากนั้นศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำสั่งว่า อนุญาตหรือไม่อนุญาต ไม่ว่าจะในคำร้องหรือในรายงานกระบวนพิจารณา เห็นว่า การขอให้นับโทษต่อนี้ มิได้มีกฎหมายบัญญัติว่าจะต้องกล่าวมาในคำฟ้อง โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้นับโทษต่อในภายหลังได้ คดีทั้งสองเรื่องนี้ โจทก์ยื่นคำร้องบรรยายมาแล้วว่า จำเลยทั้งสองสำนวนเป็นบุคคลเดียวกันกระทำผิดข้อหาเดียวกัน แม้จำเลยจะเพียงแต่ไม่คัดค้านคำร้อง ไม่เคยรับไว้ในที่ใดว่าเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่คดีสองเรื่องนี้เป็นเรื่องโจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลย ที่ศาลชั้นต้นแห่งเดียวกัน ในเวลาใกล้เคียงกัน และต่อมาศาลสั่งให้รวมการพิจารณาด้วยกัน ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่า ที่โจทก์อ้างมาในคำร้องนั้นเป็นความจริงทุกอย่าง ไม่มีปัญหาว่าจำเลยแต่ละคนอาจจะมิได้เป็นบุคคลคนเดียวกัน อันจะทำให้ไม่อาจนับโทษต่อได้ เมื่อโจทก์ได้แสดงความประสงค์ขอให้นับโทษต่อมาชัดเจนและจำเลยทั้งสองคดีเป็นบุคคลคนเดียวกันแน่นอน แม้จะมิได้แถลงรับก็เห็นประจักษ์อยู่แล้วเช่นนี้ ย่อมไม่มีทางที่ศาลชั้นต้นจะสั่งคำร้องของโจทก์เป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากสั่งอนุญาต การที่ศาลชั้นต้น มิได้มีคำสั่งอย่างใดจนกระทั่งพิพากษา ต้องถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องขอให้นับโทษต่อโดยปริยายมิได้ท้วงติงแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้นับโทษต่อมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share