แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง โดยนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถ โค่น เผาต้นยางพารา และขนำของโจทก์ที่ปลูกไว้เสียหาย แล้วจำเลยปลูกต้นมะพร้าว ต้นยางพาราต้นมะม่วงหิมพานต์ ของจำเลยลงในที่ดินดังกล่าวแทน การกระทำของจำเลยเป็นการต่อเนื่องกัน โดยจำเลยมีเจตนาถือการครอบครองที่ดินของโจทก์และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ในที่ดินดังกล่าวเสียหายในคราวเดียวกัน จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดหลายกระทงและแยกการกระทำของจำเลยมาในฟ้องเป็นข้อ ก. และข้อ ข. แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลก็จะลงโทษจำเลยหลายกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2531 เวลากลางวันจำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทง กล่าวคือ
ก. จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองแล้วปลูกต้นมะพร้าวลงในที่ดินนั้นเนื้อที่ 30 ไร่ เพื่อยึดถือที่ดินเป็นของตน
ข. เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินในข้อ ก. แล้ว จำเลยได้ทำลายทรัพย์ของโจทก์ โดยนำรถแทรกเตอร์ไถ โค่น เผาต้นยางพาราและขนำของโจทก์ ทำให้ต้นยางพารา และขนำของโจทก์เสียหายทำลาย ทำให้ไร้ประโยชน์ เหตุเกิดที่ตำบลนาหว้า อำเภอจะนะจังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 358, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยจำเลยได้ครอบครองโดยสงบและเปิดเผยเป็นเจ้าของมากว่า10 ปีแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 358 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิดไปตามมาตรา 91 ฐานบุกรุกจำคุก 1 ปี และฐานทำให้เสียทรัพย์จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษจำคุก 1 ปีและปรับ 6,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง โดยนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถโค่น เผาต้นยางพารา และขนำของโจทก์ที่ปลูกไว้ในที่ดินดังกล่าวเสียหายแล้วจำเลยได้ทำการปลูกต้นมะพร้าว ต้นยางพาราต้นมะม่วงหินพานต์ ของจำเลยลงในที่ดินดังกล่าวแทน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการต่อเนื่องกันโดยจำเลยมีเจตนาถือการครอบครองที่ดินของโจทก์และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ในที่ดินดังกล่าวเสียหายในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดหลายกระทงและแยกการกระทำของจำเลยมาในฟ้องเป็นข้อ ก. และข้อ ข. แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันศาลก็จะลงโทษจำเลยหลายกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับรูปคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน