แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งมีหน้าที่พิจารณาออกใบอนุญาตทำการฉายภาพยนตร์ไม่อนุญาตให้โจทก์ทำการฉายภาพยนตร์แม้โจทก์อุทธรณ์ต่อสภาพิจารณาภาพยนตร์ๆ มีคำสั่งอนุมัติให้ฉายได้ ก็ตามเมื่อรัฐมนตรีมหาดไทยมีคำสั่งไม่อนุมัติจำเลยย่อมไม่ออกใบอนุญาตให้โจทก์ได้เพราะรัฐมนตรีมหาดไทยมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตซึ่งออกตามความใน พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ.2473 ได้ตามแต่จะเห็นสมควร
เมื่อรัฐมนตรีสั่งไม่อนุมัติแล้วหากจำเลยจะขืนออกใบอนุญาตให้โจทก์ก็จะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหรือไร้ผลเพราะรัฐมนตรีย่อมเพิกถอนเสียได้
ย่อยาว
ได้ความตามคำฟ้อง คำให้การ คำแถลงคู่ความและเอกสารว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งมีหน้าที่พิจารณาออกใบอนุญาตทำการฉายภาพยนตร์ ขออนุญาตทำการฉายภาพยนตร์เรื่อง “เซอรคัสอาเรียนาภาค 2” จำเลยไม่อนุญาต โจทก์อุทธรณ์ต่อสภาพิจารณาภาพยนตร์ ๆ มีคำสั่งลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2499 อนุมัติให้ฉายได้ จำเลยจึงได้เรียกโจทก์ไปแจ้งให้ทราบว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเคยมีคำสั่งห้ามมิให้ฉายภาพยนตร์จากประเทศคอมมิวนิสต์จำเลยจะนำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาก่อน ขอให้โจทก์รอฟังคำสั่งก่อน โดยจำเลยจะยังไม่ออกใบอนุญาตให้โจทก์ก็ยินยอมรอ ในที่สุดปรากฏตามคำสั่ง ร.ม.ต.มหาดไทยลงวันที่ 16 ก.พ. 2499 ว่า “ให้สั่งห้ามภาพยนตร์ที่มาจากกลุ่มคอมมิวนิสต์เข้าประเทศตั้งแต่บัดนี้ ส่งกรมตำรวจพิจารณา สำหรับรายนี้ไม่อนุมัติและควรสังเกตุว่าผู้สั่งเข้ามาต้องติดต่อกับคอมแน่”
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้พิจารณาตาม พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ.2473 มีหน้าที่ออกใบอนุญาตฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ให้แก่โจทก์ตามขอ
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่จำเลยมิได้ออกใบอนุญาตให้โจทก์ก็เพราะ ร.ม.ต.มีคำสั่งไม่อนุมัติ และตามความใน พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ.2473 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้เสนาบดีมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตซึ่งออกตามความใน พระราชบัญญัตินี้ได้ตามแต่จะเห็นสมควร ฉะนั้นเมื่อ ร.ม.ต.สั่งไม่อนุมัติแล้ว หากจำเลยจะขืนออกใบอนุญาตให้โจทก์ก็จะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหรือไร้ผล เพราะร.ม.ต.ย่อมเพิกถอนเสียได้
ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้อง