คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4437/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนสั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์อยู่ใต้ บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 นำรถออกนอกพื้นที่โดยมิได้ขออนุมัติก่อน แม้จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบที่วางไว้ก็ตาม เมื่อฟังได้ว่าเป็นการเดิน ทางไปปฏิบัติหน้าที่ราชการมิใช่เรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ดังนั้น ต้องถือว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 เป็นผลให้กรมตำรวจจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ตราโล่05353 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อไปราชการของจำเลยที่ 3 ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปตามถนนสายนครพนม-สกลนครมุ่งหน้าจะกลับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน กิ่งอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 9-10 ได้ขับรถแซงอย่างกะทันหันในที่คับขัน เพื่อขึ้นหน้ารถยนต์โดยสารซึ่งจอดอยู่ข้างทางโดยขับแซงขึ้นทางด้านขวาด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนรถยนต์คันที่นายประยูร ชื่นสงวนสัตย์ขับสวนทางมาในเส้นทางของตน เป็นเหตุให้นายประยูร ชื่นสงวนสัตย์ถึงแก่ความตาย และโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์ขอคิดค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 1,000,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแทนกันหรือร่วมกันแก่โจทก์เป็นเงิน 1,000,000บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 รับราชการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกรมตำรวจจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปชนรถของนายประยูร ชื่นสงวนสัตย์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่เกิดขึ้น ฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นฟ้องเคลือบคลุม ค่าขาดไร้อุปการะโจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ เหตุเกิดจากความประมาทของผู้ตายและเป็นกรณีสุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะหลีกเลี่ยงจากอุบัติเหตุนั้นได้ เหตุมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำรถยนต์ของทางราชการจำเลยที่ 3 ออกไปใช้โดยพลการ และขับขี่ออกนอกเขตพื้นที่โดยพลการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 ตามระเบียบราชการ มิได้ใช้รถในราชการของจำเลยที่ 3 สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไปรวมค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับไม่เกิน 66,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น “ข้อเท็จจริงที่ฝ่ายจำเลยนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 9 ประจำอยู่เขตอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปจังหวัดสกลนคร เพื่อเยี่ยมผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งประสบอุบัติเหตุและอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร ในการนี้จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือขออนุมัติไปราชการที่จังหวัดสกลนคร แต่ก่อนออกเดินทางจำเลยที่ 2 ได้รับรายงานว่ามีการลักลอบค้ายาเสพติดให้โทษที่จังหวัดนครพนม จึงได้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปที่จังหวัดนครพนมก่อนโดยยังมิได้ขออนุมัติการเดินทางและระหว่างเดินทางกลับจากจังหวัดนครพนมมาที่จังหวัดสกลนครจึงเกิดเหตุครั้งนี้ พิเคราะห์แล้วไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยที่ 3 ว่าการที่จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถออกนอกเขตพื้นที่และไปประสบเหตุครั้งนี้เป็นเรื่องกิจการส่วนตัวของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด แม้พันตำรวจโทจรูญ สาครเจริญ พยานจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นประธานการสอบสวนทางวินัยก็เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ได้วิทยุขออนุมัติการเดินทางไปจังหวัดนครพนม และสำหรับระเบียบที่วางไว้เกี่ยวกับการนำยานพาหนะออกนอกเขตพื้นที่นั้น พันตำรวจตรีทองม้าย ชาภูบาล ประจำกองกำกับการ 4 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเบิกใช้ยานพาหนะก็เบิกความว่า การนำรถออกนอกพื้นที่โดยไม่ขออนุมัติก่อน เมื่อได้รับอนุมัติในภายหลังก็ถือว่าเป็นการถูกต้อง อันเท่ากับพยานจำเลยทั้งสองเห็นว่าจำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ราชการดังนั้น แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่สั่งให้จำเลยที่ 1 นำรถออกนอกพื้นที่โดยมิได้ขออนุมัติก่อนจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบที่วางไว้เมื่อฟังได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 1 นำรถออกนอกเขตพื้นที่ไปประสบเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนหนึ่ง มิใช่เป็นการไปทำธุระในเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 2 แล้ว กรณีจึงต้องถือว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 อันเป็นผลให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76วรรคแรก…”
พิพากษายืน

Share