แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อมูลหนี้ที่จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิด ต่างแยกออกจากกันได้เป็นการเฉพาะตัวแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ ย่อมมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1กับโจทก์เท่านั้น มูลหนี้เดิมจะระงับหรือไม่ระงับ ก็มีผลเฉพาะคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้ถือว่า ตนมีหนี้แยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจะถือประโยชน์ อันเกิดแต่สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นประโยชน์แก่ตนได้ มูลหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ หาระงับด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังกล่าวไม่ สิทธิในการฟ้องร้องคดีหรืออำนาจฟ้องกับสิทธิที่จะบังคับ คดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาเป็นกรณีที่แตกต่างกันอยู่ในขั้นตอนที่ต่างกันจะนำมาพิจารณาคละระคนด้วยกันหาได้ไม่แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วจำเลยจะยกเอาการบังคับคดีที่อาจมีได้สองทางโดยจะเกิดขึ้นหรือไม่ยังไม่เป็นการแน่นอนขึ้นต่อสู้ เพื่อปฏิเสธความรับผิดในมูลหนี้ตามคำฟ้องเสียแต่แรกนั้น หาเป็น การถูกต้องไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ที่ 3มีอำนาจหน้าที่ประการใด จำเลยทั้งสอง หาได้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นไม่ จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ในการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ประการใด ทำให้โจทก์เสียหายอย่างใด แล้วสรุปว่าการกระทำของจำเลยทั้งสอง เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ และเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ดังนี้ เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง และจำเลยเป็นผู้ถูกจ้าง อันเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 8(5)ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ มูลหนี้ละเมิดอันเป็นมูลหนี้เดิมที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว และทำให้โจทก์ได้รับหนี้หรือสิทธิขึ้นใหม่ตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งโจทก์ได้ฟ้อง จำเลยที่ 1 ด้วยมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ยังมิได้ รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจากจำเลยที่ 1 ความรับผิด ในมูลหนี้ละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ระงับสิ้นไป
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 53,301 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขึ้นมาหลายประการ ศาลฎีกาจะไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ตามลำดับก่อนหลัง แต่จะวินิจฉัยไปตามลำดับแห่งความจำเป็นและความสำคัญแห่งคดีตามที่ควรจะเป็น
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า ตามที่จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 12 กันยายน 2528 ขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลแรงงานกลางสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 9 ตุลาคม 2528ว่าจะชี้ขาดพร้อมกับคำพิพากษานั้น ศาลแรงงานกลางยังหาได้ชี้ขาดไม่จึงขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดไปเสียทีเดียว พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายไว้แล้วในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องตามคำพิพากษาหน้า 10 ถึงหน้า 11 มิใช่มิได้วินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเลยทั้งสองคงติดใจอุทธรณ์ขึ้นมาเพียงสองประการ ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยตามที่จะกล่าวต่อไปนี้ จำเลยทั้งสองขอให้วินิจฉัยชี้ขาดตามคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์แล้วโดยมีนายชิดชัย สิงคิวิบูลย์กับนางโฉมยงค์ คงพอปาน ทำสัญญาค้ำประกันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น มูลหนี้ละเมิดจึงเป็นอันระงับโดยสัญญาสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์หามีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองอีกไม่ นอกจากจำเลยทั้งสองขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองยังอุทธรณ์ยกเหตุผลอื่นอีกตามอุทธรณ์ข้อ 2 ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยรวมกันไปเสียทีเดียวในปัญหาดังกล่าว เห็นว่าจำเลยทั้งสองยอมรับในคำให้การอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มิได้มีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยทั้งสามต่างละเมิดสิทธิของโจทก์โดยลำพังตน แยกต่างหากจากกันได้ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมูลหนี้ที่จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดต่างแยกออกจากกันได้เป็นการเฉพาะตัวแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความตามที่กล่าวข้างต้นก็ย่อมมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 กับโจทก์เท่านั้น มูลหนี้เดิมจะระงับหรือไม่ระงับก็มีผลเฉพาะคู่สัญญา จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ผู้ถือว่าตนมีหนี้แยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจะถือประโยชน์อันเกิดแต่สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนประการใดได้ หนี้มูลละเมิดที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ หากมีหาระงับด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่กล่าวข้างต้นไม่คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ข้อเท็จจริงและรูปคดีไม่ตรงกับคดีนี้จะนำมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยกเหตุผลขึ้นอ้างในอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า หนี้จำนวนเดียวกันนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและฟ้องนายชิดชัย สิงคิวิบูลย์กับนางโฉมยงค์ คงพลปาน ตามสัญญาค้ำประกันที่ศาลจังหวัดขอนแก่นแล้ว โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีกไม่ได้ มิฉะนั้นโจทก์จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในมูลหนี้รายเดียวกันถึงสองทาง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าหากจำเลยทั้งสองมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์แล้วจำเลยทั้งสองบอกปัดการชำระหนี้นั้น โจทก์ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลให้ว่ากล่าวเอาความแก่จำเลยทั้งสองได้ ศาลฎีกาเห็นว่าสิทธิในการฟ้องร้องคดีหรืออำนาจฟ้องกับสิทธิที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาเป็นกรณีที่แตกต่างกันอยู่ในขั้นตอนที่ต่างกันจะนำมาพิจารณาคละระคนด้วยกันหาได้ไม่ ที่จำเลยทั้งสองด่วนยกเอาการบังคับคดีที่อาจมีได้สองทางโดยจะเกิดขึ้นตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์หรือไม่ก็ยังไม่เป็นการแน่นอนขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความผิดในมูลหนี้ตามคำฟ้องเสียแต่แรกนั้นหาเป็นการถูกต้องไม่ แม้กรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้แจ้งชัดว่าทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจบางแห่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีรัฐวิสาหกิจบางแห่งก็อาจถูกฟ้องได้ดังแบบอย่างตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3351/2526 คดีระหว่างนายเสมอ สาขากร โจทก์การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลย อันเป็นข้อที่ยืนยันว่า อำนาจฟ้องกับการบังคับคดีเป็นกรณีที่ต่างกันเหตุผลประการนี้ จึงฟังไม่ขึ้นจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดตามคำร้องอีกประการหนึ่งว่า หนี้ตามคำฟ้องมิได้อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ทั้งนี้ เพราะมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่างแยกออกจากหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ข้อนี้เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า โจทก์ได้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มีอำนาจหน้าที่ประการใดจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 หาได้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นไม่ จำเลยทั้งสองจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ประการใดทำให้โจทก์เสียหายอย่างใดครั้นแล้วโจทก์ก็สรุปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ และเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าคดีของโจทก์เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง และจำเลยทั้งสองผู้เป็นลูกจ้างอันเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8(5)แล้ว ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น” ฯลฯ
“จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้ทุจริตยักยอกเงิน 1,593,689.50 บาท ของโจทก์ไปคดีนี้ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์แต่กลับพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ชดใช้โดยลำพังทั้งที่จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ก่อหนี้ และไม่ได้เป็นต้นเหตุแห่งหนี้ คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงไม่ถูกต้องพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าเหตุที่ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 1,593,689.50 บาท ก็เพราะมูลหนี้ละเมิดอันเป็นมูลหนี้เดิมที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับสิ้นไปแล้วและทำให้โจทก์ได้รับหนี้หรือสิทธิขึ้นใหม่ตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งบัดนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวที่ศาลจังหวัดขอนแก่นแล้ว ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงมิได้ฟ้องและมีคำขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 1,593,689.50 บาทด้วยมูลหนี้ละเมิดในคดีนี้อีก แต่โดยที่โจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจากจำเลยที่ 1 ความรับผิดในมูลหนี้ละเมิดของจำเลยที่ 2 และ จำเลยที่ 3 จึงไม่ระงับสิ้นไปดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วในอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3เพราะฉะนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ร่วมกันชดใช้เงิน 1,593,689.50 บาท ด้วยมูลหนี้ละเมิดโดยมิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวในคดีนี้จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 บางข้อฟังไม่ขึ้นบางข้อรับวินิจฉัยให้ไม่ได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินสองจำนวนแก่โจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน