แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มีอายุเกินหกสิบปี ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9(2) ต้องถูกบังคับให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 11(3) โจทก์จึงถูกเลิกจ้างเพราะเหตุขาดคุณสมบัติตามกฎหมายดังกล่าว มิใช่ถูกเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ข้อตกลงที่ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิหรือได้รับสิทธิน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ต่อเมื่อผู้ที่ทำข้อตกลงนั้นเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน โจทก์เกษียณอายุแล้วแต่ขอทำงานเป็นพนักงานของจำเลยต่อ โดยทำข้อตกลงกับจำเลยว่าโจทก์จะทำงานต่อไปพลางก่อนเพื่อรอ ผลการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของจำเลย สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจะเกิดขึ้นหรือไม่จึงไม่แน่นอนถือเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 วรรคแรก เมื่อคณะกรรมการบริหารของจำเลยไม่อนุมัติ สัญญาจ้างแรงงานจึงไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยต่อไป ข้อตกลงที่จะไม่รับค่าจ้างช่วงเวลารอการอนุมัติทำขึ้นก่อนโจทก์จะมีสิทธิตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ไม่ถือเป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะได้รับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย มีผลบังคับได้ไม่เป็นโมฆะ ศาลแรงงานกลางยกคำขอของโจทก์ที่ให้บังคับจำเลยจ่าย ค่าจ้างชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเคยเป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลย จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างชำระค่าชดเชย แก่โจทก์ทั้งห้า พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า เดิมจำเลยมีฐานะเป็นบริษัทมหาชน (จำกัด) ต่อมากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้เข้าถือหุ้นในธนาคารจำเลย ทำให้จำเลยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ซึ่งทำให้จำเลยไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และเป็นผลให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งทุกคนมีอายุเกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่จำเลยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยคงมีสิทธิเพียงได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 58,333 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 87,024 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 73,528 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 64,736 บาท และโจทก์ที่ 5 จำนวน 50,620 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง(วันที่ 31 สิงหาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง ส่วนการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2) เป็นบทกฎหมายที่กำหนดคุณสมบัติไว้โดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง คดีนี้โจทก์ทั้งห้ามีอายุเกินหกสิบปี ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 9(2) และต้องถูกบังคับให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 11(3) โจทก์ทั้งห้าจึงถูกเลิกจ้างเพราะเหตุที่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายดังกล่าว มิใช่ถูกจำเลยเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งห้า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งห้า ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าสำนวนฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึง 25กันยายน 2541 ให้แก่โจทก์ทั้งห้า เนื่องจากโจทก์ทั้งห้าได้ทำงานให้แก่จำเลยในช่วงเวลาดังกล่าว และจำเลยได้รับประโยชน์จากผลการทำงานของโจทก์ทั้งห้าไปแล้ว เห็นว่าข้อตกลงใดที่ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิหรือได้รับสิทธิน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ต่อเมื่อผู้ที่ทำข้อตกลงนั้นเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน คดีนี้ได้ความว่าเมื่อโจทก์ทั้งห้าพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยเนื่องจากเกษียณอายุแล้ว โจทก์ทั้งห้าร้องขอทำงานเป็นพนักงานของจำเลยต่อไป โดยทำข้อตกลงกับนายศิริชัย สมบัติศิริ กรรมการผู้จัดการของจำเลยว่า โจทก์ทั้งห้าจะทำงานต่อไปพลางก่อนเพื่อรอผลการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของจำเลย ดังนี้ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนถือเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 วรรคแรก เมื่อคณะกรรมการบริหารของจำเลยไม่อนุมัติให้จ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานกับจำเลยต่อไปสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเงื่อนไขบังคับก่อนตามนิติกรรมไม่สำเร็จ โจทก์ทั้งห้าจึงไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยอีกต่อไปและไม่มีสิทธิตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ข้อตกลงที่จะไม่รับค่าจ้างสำหรับช่วงเวลาที่รอการอนุมัติของคณะกรรมการบริหารของจำเลยนั้นทำขึ้นก่อนที่โจทก์ทั้งห้าจะมีสิทธิตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ไม่ถือเป็นการตัดสิทธิของโจทก์ทั้งห้าที่จะได้รับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมมีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตามที่โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งห้านั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งห้าที่ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งห้าเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง