คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1621/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระเบียบจ่ายเงินบำนาญออกเมื่อใช้ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์แล้วใช้เฉพาะผู้เข้าทำงานหลังวันออกระเบียบ ผู้ทำงานมาก่อนใช้ระเบียบที่มีอยู่เดิม เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างนายจ้างแก้ไม่ได้ เว้นแต่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงินบำนาญ 258,000 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาว่า จะใช้ระเบียบการจ่ายเงินบำนาญของจำเลยฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 หรือฉบับลงวันที่ 6กันยายน พ.ศ. 2515 มาปรับแก่คดีนั้น ได้ความว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้ประกาศใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงได้ออกระเบียบการจ่ายเงินบำนาญฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 แม้จำเลยจะมีสิทธิออกระเบียบดังกล่าว แต่ก็มีผลใช้บังคับเฉพาะลูกจ้างซึ่งมาเข้าทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 เป็นต้นไป เท่านั้น ส่วนโจทก์และลูกจ้างที่เข้าทำงานมาก่อนย่อมมีสิทธิและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยถือว่าระเบียบการจ่ายเงินบำนาญที่ใช้อยู่เดิมฉบับลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2515 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 5, 10, 11 ซึ่งจำเลยผู้เป็นนายจ้างจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีกไม่ได้ เว้นแต่การแก้ไขนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าเดิมตามมาตรา 20 และพิเคราะห์ระเบียบการจ่ายเงินบำนาญของจำเลย ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 แล้วเห็นว่าได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มขึ้นในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ระเบียบฉบับนี้จึงไม่มีผลใช้บังคับกับโจทก์และลูกจ้างที่ทำงานมาก่อนวันที่ 1 พฤษภาคมพ.ศ. 2518 กรณีของโจทก์ต้องใช้ระเบียบเดิมฉบับลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2515มาบังคับ

ข้อวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำนาญตามระเบียบการจ่ายเงินบำนาญฉบับลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2515 หรือไม่ พิเคราะห์ระเบียบฉบับดังกล่าวแล้ว เฉพาะในข้อ 1 ทั้งโจทก์และจำเลยทำคำแปลไว้ตรงกันว่า ระเบียบการจ่ายเงินบำนาญนี้ใช้เฉพาะกับลูกจ้างประจำที่ทำงานเต็มวัน และได้ทำงานในบริษัท (จำเลย) มาเป็นเวลาอย่างน้อยตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งมีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า ลูกจ้างประจำที่ทำงานเต็มวัน เมื่อทำงานมาครบ 10 ปีแล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามระเบียบฉบับนี้สำหรับข้อ 2 ซึ่งได้กล่าวถึงการเกษียณอายุของลูกจ้าง ก็ไม่ปรากฏชัดว่าจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับข้อ 1 ดังนั้นลูกจ้างที่ได้สิทธิตามข้อ 1 จึงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถูกปลดเกษียณในข้อ 2 ตามข้อต่อสู้ของจำเลย ฉะนั้นโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำทำงานเต็มวันอยู่กับจำเลยมาเป็นเวลานานถึง 10 ปี 8 เดือน จึงมีสิทธิได้รับเงินบำนาญตามระเบียบนี้”

พิพากษายืน

Share