แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้เช็คพิพาท 2 ฉบับที่จำเลยสั่งจ่ายชำระหนี้รายเดียวกัน โดยลงวันที่เดียวกันและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับในวันเดียวกัน แต่การออกเช็คเป็นการสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามจำนวนในเช็ค ณ วันที่ที่ลงในเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีเจตนาให้จ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับแยกจากกันเป็นคนละส่วนคนละจำนวนไม่ได้ร่วมเป็นเช็คฉบับเดียวกัน ความผิดเกิดขึ้นต่างหากแยกจากกันได้โดยชัดเจนเป็นการเฉพาะตัวของเช็คแต่ละฉบับ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน เป็นคนละกระทงความผิดแยกจากกัน การที่ศาลจะสั่งให้หักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคแรก ทั้งมิใช่กรณีที่หากโจทก์ไม่มีคำขอขึ้นมาศาลก็วินิจฉัยให้ไม่ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นระบุในคำพิพากษาโดยชัดแจ้งว่า หักวันที่จำเลยถูกคุมขังให้เฉพาะวันถูกคุมขังที่ไม่ซ้ำซ้อนนั้นจึงชอบแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ เป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกใช้บังคับภายหลังอันเป็นคุณแก่จำเลย จึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้นเป็นข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ จำเลยเพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกาจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบกับมาตรา 225 และแม้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนมีใจความว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ สำนวนแรก 2 ฉบับ จำนวนเงิน810,000 บาท และจำนวนเงิน 40,500 บาท เช็คทั้งสองฉบับลงวันที่เดียวกันคือวันที่ 15 สิงหาคม 2533 และสำนวนหลัง 1 ฉบับ สั่งจ่ายเงินจำนวน 81,000 บาท ลงวันที่ 21 กันยายน 2533 มอบให้แก่นางสาวพ้องจิตต์ วณิเกียรติ ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระเงินผู้เสียหายนำเช็คแต่ละฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารทหารไทยสำนักงานใหญ่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับโดยแจ้งว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ทั้งนี้จำเลยออกเช็คดังกล่าวโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คฯ จำเลยเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาของศาลชั้นต้นอีก 13 สำนวน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษต่อจากคดีดังกล่าว
ระหว่างพิจารณานางสาวพ้องจิตต์ วณิเกียรติ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพทั้งสองสำนวนภายหลังที่สืบพยานโจทก์ไปบางส่วน และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้วางโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และมาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษตามเช็คฉบับหมาย จ.1 จำคุก 7 เดือนตามเช็คฉบับหมาย จ.3 จำคุก 2 เดือน และตามเช็คฉบับหมาย จ.5 จำคุก3 เดือนรวม 3 กระทง จำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 8 เดือน ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงอีก 12 คดี สำหรับคดีที่ยังมิได้มีคำพิพากษานับโทษต่อให้ไม่ได้ หักวันที่จำเลยถูกคุมขังให้เฉพาะวันถูกคุมขังที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การออกเช็คเป็นการสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามจำนวนในเช็ค ณ วันที่ที่ลงในเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีเจตนาให้จ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับแยกจากกันเป็นคนละส่วนคนละจำนวนไม่ได้ร่วมเป็นเช็คฉบับเดียวกัน ความผิดเกิดขึ้นต่างหากแยกจากกันได้ชัดเจนเป็นการเฉพาะตัวของเช็คแต่ละฉบับ เมื่อธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น ๆ แล้ว ดังนั้นการที่จำเลยออกเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้รายเดียวกันแม้ได้ลงวันที่สั่งจ่ายวันเดียวกัน ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินวันเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นคนละกระทงความผิดแยกจากกัน ซึ่งศาลต้องลงโทษจำเลยเรียงเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ปัญหาว่า โจทก์ไม่ได้มีคำขอให้หักวันคุมขังให้จำเลยเฉพาะวันถูกคุมขังที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้หักวันที่จำเลยถูกคุมขังเฉพาะวันที่ถูกคุมขังไม่ซ้ำซ้อนเป็นการพิพากษาเกินคำขอ จึงต้องหักวันคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากกำหนดโทษจำคุกให้จำเลยทักคดีแม้ว่าเป็นการนับวันคุมขังซ้ำซ้อนกันหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลจะสั่งให้หักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 22 วรรคแรก ทั้งมิใช่กรณีที่หากโจทก์ไม่มีคำขอขึ้นศาลก็วินิจฉัยให้ไม่ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นระบุในคำพิพากษาโดยชัดแจ้งว่าหักวันที่จำเลยถูกคุมขังให้เฉพาะวันถูกคุมขังที่ไม่ซ้ำซ้อน และศาลอุทธรณ์เห็นด้วยเป็นดุลพินิจที่ชอบแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ว่า จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ เป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกใช้บังคับภายหลังอันเป็นคุณแก่จำเลยจึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้นเห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ จำเลยเพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกาจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195ประกอบกับมาตรา 225 และแม้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรรับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน